02 149 5555 ถึง 60

 

โรคแพนิก

โรคแพนิก

รศ.พญ.พรจิรา ปริวัชรากุล

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์

อาการตื่นตระหนกหรือกลัวสุดขีดจนใจสั่น อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน อาการทั่วไปดูธรรมดาแต่หากเป็นบ่อย ๆ จนมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยไม่หายสักที จะมีโอกาสเป็นโรคแพนิกได้หรือไม่ มาหาคำตอบกัน

โรคแพนิก (Panic disorder) คือ การที่คนไข้มีอาการแพนิก หรือที่เรียกว่า “Panic attack” เป็น ๆ หาย ๆ ติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 1 เดือนขึ้นไป ส่งผลต่อชีวิตประจำวันทำให้ไม่สามารถที่จะไปทำงานได้ อาจจะหลีกเลี่ยงอันตรายต่าง ๆ โดยที่เกิดขึ้นติด ๆ กันโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนมากระตุ้น

สาเหตุที่พบได้ในคนที่เป็นโรคแพนิก คือ มีปัจจัยด้านพันธุกรรม ถ้าหากมีญาติสายตรงเป็นโรคแพนิกก็มีโอกาสจะเป็นมากกว่าคนอื่น 5 เท่า นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยในเรื่องของระบบชีวภาพในร่างกาย คือ ระบบประสาทอัตโนมัติอาจจะทำงานไวเกินไปทำให้มีอาการใจสั่น เหงื่อแตกขึ้นมาได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องพบเหตุการณ์อะไรที่น่ากลัว โดยเกือบทั้งหมดของผู้ป่วยที่เป็นโรคแพนิกจะเริ่มมีอาการหลังจากเกิดเหตุการณ์ในชีวิตครั้งสำคัญ เช่น เกิดความสูญเสียร้ายแรงขึ้นมา

โรคนี้มักพบในคนอายุน้อย อายุประมาณ 20 - 30 ปี ซึ่งหลายรายจะมาพบแพทย์ช้า กว่าจะมาพบแพทย์อายุประมาณ 40 - 50 ปีก็มี เพราะว่าอาการของโรคนี้ใกล้เคียงกับโรคอื่นหลายอย่าง เช่น ใจสั่น เหงื่อแตกง่าย หายใจไม่อิ่ม รู้สึกเจ็บหน้าอก บางรายมีอาการชาที่มือ ที่เท้า ที่ปาก หรือรู้สึกวิงเวียน กลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ กลัวว่าจะบ้า กลัวว่าจะเสียชีวิต ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเป็นเหมือนกัน อาการเด่นชัดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

การวินิจฉัยโรคแพนิก อันดับแรก แพทย์จะต้องดูให้แน่ชัดว่าไม่ได้เป็นโรคอื่นที่มีอาการใกล้เคียงกับแพนิก เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ โรคปอด หรือบางคนอาจเป็นภาวะวัยทอง หรือมีผลมาจากการใช้ยาเสพติดกระตุ้นรวมทั้งเครื่องดื่มและอาหารที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคล่า ชาเขียว และเครื่องดื่มชูกำลัง ทั้งหมดนี้ต้องดูให้แน่ชัดว่าไม่ได้มีมาจากสาเหตุอื่นถึงจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพนิก

การรักษาโรคแพนิก มีวิธีการรักษา2 หลักใหญ่ ๆ คือ การใช้ยาและการทำจิตบำบัดประเภทปรับความคิดและพฤติกรรม ในเบื้องต้นผู้ป่วยสามารถที่จะบอกตัวเองได้ โดยให้กำลังใจตัวเอง คือ บอกตัวเองว่าโรคนี้เป็นขึ้นมาแล้วรักษาได้แล้วไม่ทำให้ถึงแก่ชีวิต ส่วนมากคนที่มาแล้วรักษายากเป็นเพราะพยายามช่วยเหลือตัวเองในทางอื่น ๆ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งดูเหมือนอาการจะสงบแต่จริง ๆ แล้วรุนแรงและรักษายากมากยิ่งขึ้น หากท่านสงสัยว่าตนเองมีอาการที่คล้ายโรคแพนิกควรจะมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ

สำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพนิกแล้ว และเกิดอาการแพนิกขึ้น วิธีการปฎิบัติตัว อันดับแรกต้องตั้งสติ หายใจเข้า - ออกลึก ๆ ช้า ๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากอาการ โดยหายใจเข้าให้ท้องป่องและหายใจออกให้ท้องยุบในจังหวะที่ช้า ซึ่งจะทำให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัว ในระหว่างที่ทำให้บอกกับตัวเองว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นชั่วคราว สามารถหายได้และไม่ถึงแก่ชีวิต หลังจากนั้นร่างกายจะค่อย ๆ ผ่อนคลายและอาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปเอง

15 February 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 32850

 

Preset Colors