02 149 5555 ถึง 60

 

คุณเป็นโรคแพนิค (Panic Disorder) หรือเปล่า

คุณเป็นโรคแพนิค (Panic Disorder) หรือเปล่า

เมื่อไม่นานมานี้มีคนรู้จักเข้ามาปรึกษากับผู้เขียนด้วยความกังวลว่า ช่วงนี้ไม่รู้เป็นอะไร อยู่ๆก็รู้สึกหวิวๆ ใจสั่น หัวใจเต้นรัว หายใจติดขัด เจ็บแน่นหน้าอก มือเท้าเย็นและชาไปหมด ตกใจกลัวมาก ควบคุมตัวเองไม่ได้เลย กลัวจะเป็นโรคหัวใจ เหมือนหัวใจจะวายตายให้ได้ แต่เป็นอยู่สัก 10-20 นาทีก็หายไปเอง

อีกคนหนึ่งมาปรึกษาเหมือนกันว่า ระยะนี้สุขภาพไม่ค่อยดีเลย รู้สึกอ่อนเพลียและมึนหัวอยู่บ่อยๆ พอมีอาการขึ้นมาท้องไส้ก็ปั่นป่วนอยากจะอาเจียน รู้สึกตัวสั่น เบาหวิวเหมือนจะเป็นลม ล่องลอยเหมือนวิญญานจะออกจากร่าง เป็นซ้ำไปซ้ำมาวันละหลายรอบ ตอนนี้กังวลมาก ไม่อยากรู้สึกอย่างนี้อีกแล้ว

ผู้เขียนถามไถ่อาการและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของทั้งสองคนด้วยความเป็นห่วง แล้วจึงแนะนำว่าให้ไปพบคุณหมอดูก่อนจะดีกว่า แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อไปตรวจสุขภาพกับคุณหมออย่างละเอียดแล้ว กลับไม่พบความผิดปกติทางร่างกายหรือไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจอย่างที่เคยกังวลกันตั้งแต่ตอนแรกแต่อย่างใด คุณหมอจึงแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ เนื่องจากอาการที่แสดงออกเป็นลักษณะอาการของโรคแพนิค (Panic Disorder) ซึ่งควรได้รับการดูแลในเรื่องของการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมเป็นหลัก

โดยปกติแล้วสมองจะสั่งการให้ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งต่างๆใน 2 ลักษณะคือ 1.การสั่งการที่เราควบคุมได้ เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ และ 2.การสั่งการที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งมาจากการทำงานของ ระบบประสาทอัตโนมัติ เพื่อตอบสนองต่อปัจจัยสภาพแวดล้อมในแต่ละช่วงเวลา ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้เราตื่นเต้นหรือตกใจ เช่น พบเห็นอุบัติเหตุรถชนกันตรงหน้า ระบบประสาทอัตโนมัติจะทำงานและสั่งการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ

โรคแพนิค (Panic Disorder) หรือที่รู้จักในชื่อ โรคตื่นตระหนก เป็นอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงโดยปราศจากสิ่งเร้า สาเหตุเกิดจากการมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้สารเคมีในสมองขาดสมดุลจนส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เมื่อระบบประสาทอัตโนมัติทำงานบกพร่อง ร่างกายจึงรับคำสั่งที่ผิดพลาดและมีการตอบสนองโดยไม่มีเหตุการณ์ใดๆมากระตุ้น หรือไม่สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ให้สัมพันธ์กับสภาวะที่ควรจะเป็นได้ ซึ่งมักแสดงออกโดยมีลักษณะอาการประกอบกัน ดังนี้

1.มีความรู้สึกกลัว วิตกกังวล กระวนกระวายใจ ตื่นตระหนกตกใจขึ้นมาทันทีทันใดโดยไม่มีสาเหตุ

2.รู้สึกอ่อนแรง ตัวเบาหวิว วูบวาบจะเป็นลม เหงื่อออก ตัวสั่น รู้สึกเย็นหรือชาตามมือและเท้า

3.วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อยากอาเจียน ปวดมวนท้อง รู้สึกอึดอัดจนขยับตัว แขน ขาได้ลำบาก

4.มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หายใจไม่ทั่วท้อง ร่วมกับอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง รู้สึกวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคหัวใจหรือหัวใจวาย รู้สึกกลัวสุดขีดว่าตัวเองกำลังจะตาย

5.มีระยะเวลาการเกิดอาการโดยประมาณตั้งแต่ 10-30 นาที และสามารถเกิดขึ้นซ้ำอีกเมื่อไรก็ได้

6.เกิดความรู้สึกกลัวและวิตกกังวลว่าจะมีอาการขึ้นอีก จึงพยายามหาสาเหตุจนทำให้กลัวและพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือเหตุการณ์ที่คิดว่าเป็นสาเหตุ เช่น การขับรถ การขึ้นลิฟท์ หรือแม้กระทั่งกลัวตาย ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตตามปกติ

7.เกิดความรู้สึกกลัวและวิตกกังวลมากขึ้นไปอีกเมื่อไม่สามารถหาได้ว่าอาการเกิดจากอะไร ยิ่งรู้สึกท้อแท้ หมดหวัง ตกอยู่ในภาวะหดหู่และซึมเศร้า

เมื่อมีลักษณะอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นและสงสัยว่าอาจเป็นโรคแพนิคนี้ สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกคือ การไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพราะถึงแม้ว่าโรคแพนิคจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการของโรคนั้นไปสัมพันธ์คล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นค่อนข้างมาก อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดหัวใจและหัวใจวายเฉียบพลัน หรือแม้แต่อาการของโรคซึมเศร้า หากไม่พบปัญหาสุขภาพด้านอื่นก็วางใจได้ว่าจะสามารถดูแลตัวเองให้อาการทุเลาลงได้

สำหรับการดูแลอาการของโรคนั้น นอกจากรับยาตามความรุนแรงของอาการภายใต้การดูแลของแพทย์แล้ว วิธีการที่ได้ผลดีอีกทางหนึ่งคือการใส่ใจดูแลรักษาสภาพจิตใจ การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของตัวเราเองเป็นสำคัญ เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้สารเคมีในสมองขาดสมดุลและระบบประสาทอัตโนมัติทำงานบกพร่องนั้น โดยมากเป็นผลมาจากปัจจัยด้านสภาพจิตใจ รูปแบบพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ก่อความเครียดสะสมของคนในปัจจุบัน รวมถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเป็นหลัก

พฤติกรรมที่ควรปรับปลี่ยนและหลีกเลี่ยงคือ การใช้ชีวิตประจำวันด้วยความเร่งรีบ กินนอนไม่เพียงพอและไม่เป็นเวลา ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมากเกินไป ควรดูแลรักษาสภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงด้วยการจัดสรรเวลาให้กับการออกกำลังกายและการพักผ่อนให้เพียงพอ ที่สำคัญควรอยู่ห่างไกลจากการพนันและยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เนื่องจากความเครียดสะสมจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการใช้สารเสพติดล้วนมีผลโดยตรงต่อการสร้างสมดุลของสารเคมีในสมอง

นอกจากนี้ ให้พยายามพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ผ่อนคลายจากความเครียดและความวิตกกังวลทั้งหลายที่ติดอยู่ในจิตใจตัวเอง ทั้งปัญหาครอบครัว ปัญหาทางการเงิน ขาดความมั่นใจในตัวเอง หรือปมในอดีตที่ยังฝังอยู่ในใจ โดยการออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ใหม่ๆ การร่วมกลุ่มหรือชมรมที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือทำอาชีพเสริมยามว่าง การทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ หรือการใช้เวลานั่งผ่อนคลายอิริยาบทและกำหนดลมหายใจเข้าออกเพื่อฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ

จะเห็นได้ว่านับวันโรคภัยไข้เจ็บยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นทุกที หากสงสัยว่ามีอาการเจ็บป่วยตามที่กล่าวมานั้นก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราห่างไกลความเจ็บป่วยจากโรคแพนิคคือ การดูแลจิตใจตัวเองให้เข้มแข็งมีความสุขกับทุกวันและดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม

4 February 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 314290

 

Preset Colors