02 149 5555 ถึง 60

 

อันตรายจากโทรศัพท์มือถือที่(เผื่อ)คุณพ่อคุณแม่ยังไม่รู้

อันตรายจากโทรศัพท์มือถือที่(เผื่อ)คุณพ่อคุณแม่ยังไม่รู้

เผยแพร่: 20 ม.ค. 2562 10:50 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โลกของเด็กๆในแต่ละวันมีสิ่งน่าสนใจให้เรียนรู้มากมาย หลายคนคงยังจำสมัยที่ตัวเองยังเป็นเด็กได้ดีว่า รายการโทรทัศน์หรือวิดีโอเกมนั้นช่างน่าตื่นตาตื่นใจมากเสียเหลือเกิน มากเสียจนห้ามใจไม่อยู่ อยากดู อยากเล่นอยู่อย่างนั้นนานๆ จนถูกคุณพ่อคุณแม่ดุเอาอยู่บ่อยครั้ง ส่วนเราก็ไม่เข้าใจว่าเรื่องเพียงเท่านี้ ไม่เห็นต้องดุกันเลย

จากวันนั้นถึงวันนี้ที่เราเป็นคุณพ่อคุณแม่บ้าง โลกที่น่าตื่นตาตื่นใจเปลี่ยนจากโทรทัศน์เป็นโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนไปเสียแล้ว หลายคนคงเคยพยายามหาสารพัดวิธีแย่งชิงออกมาให้พ้นจากมือลูกๆ ด้วยว่ากลัวสารพัดอันตราย นั่นแสดงว่าเราเริ่มเข้าใจถึงความห่วงใยของคนเป็นพ่อแม่ที่มีต่อลูกๆแล้วล่ะ ดังนั้น เรามาทบทวนกันสักนิดว่าภัยจากโทรศัพท์มือถือที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพึงระวังไม่ให้ลูกใช้เวลาอยู่ด้วยมากเกินไปนั้นมีอะไรบ้าง

1.การเจ็บป่วยทางร่างกาย – แม้จะยังไม่มีผลการศึกษาที่ชี้ชัดไปในทิศทางเดียวกันว่าคลื่นวิทยุที่ส่งออกมาจากโทรศัพท์มือถือนั้นส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กในระยะยาวหรือไม่ กระนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจที่จะจำกัดการใช้งานเท่าที่จำเป็นต่อการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กๆเท่านั้น เนื่องจากมีกรณีศึกษาเป็นตัวอย่างจำนวนมากที่พบว่า เด็กที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่องมักมีการเจ็บป่วยทางร่างกายได้ง่าย โดยเฉพาะการใช้สายตาจับจ้องไปที่หน้าจอโทรศัพท์ตลอดเวลาทำให้มีอาการแสบหรือปวดตาจนลืมตาไม่ขึ้น ตาแห้งทำให้น้ำตาไหลและกระพริบตาบ่อย สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน ในระยะยาวอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความบกพร่องในการมองเห็น ซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงเสียโอกาสในการเข้าเรียนเพื่อประกอบอาชีพในฝันที่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับความผิดปกติในการใช้สายตา เช่น นักเรียนการบิน หรือนักเรียนเตรียมทหาร

นอกจากนี้ เมื่อเด็กๆต้องนั่งอยู่กับที่เพื่อจดจ่อไปที่หน้าจอเป็นเวลานานทำให้ตกอยู่ในภาวะความเครียดได้ โดยอาจมีอาการปวดศีรษะหรืออ่อนเพลียเป็นประจำ รู้สึกเกร็งหรือเมื่อยล้า มีอาการเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณคอและแผ่นหลัง ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นมีอาการผิดปกติที่กระดูกสันหลังจากการนั่งผิดท่าทางและไม่มีการผ่อนคลายเปลี่ยนอิริยาบท เนื่องจากกล้ามเนื้อและกระดูกโดยเฉพาะในเด็กเล็กยังเติบโตไม่เต็มที่และไม่แข็งแรงเพียงพอ ซึ่งส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางร่างกายโดยรวมของเด็ก

2.การเจ็บป่วยทางอารมณ์ – โทรศัพท์มือถือในปัจจุบันเป็นศูนย์รวมเทคโนลียีที่เน้นความรวดเร็วและน่าตื่นตาตื่นใจ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสื่อบันเทิงสามารถทำได้ภายในไม่กี่วินาทีเมื่อเทียบกับในยุคสมัยของคุณพ่อคุณแม่ที่อาจใช้เวลานานนับเดือนเลยทีเดียว ความแตกต่างนี้แม้จะเป็นเรื่องดีแต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับหน้าจอโทรศัพท์มือถือคุ้นเคยและคาดหวังให้คนรอบตัวตอบสนองความต้องการของตัวเองให้รวดเร็วเหมือนเทคโนโลยีที่ใช้อยู่

แต่ในโลกความเป็นจริงนั้นเด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงความซับซ้อนในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว และการได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการนั้นมักต้องใช้ความอดทน ความพยายามและการรอคอยมากกว่าเพียงจิ้มปลายนิ้วลงบนหน้าจอ เด็กที่ติดโทรศัพท์มือถือจึงมักมีปัญหาทางอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ฉุนเฉียว หุนหันพลันแล่น ขาดความอดทน ไม่รู้จักรอคอย ส่งผลต่อการมีพฤติกรรมก้าวราว เครียดและวิตกกังวล หรือซึมเศร้า เนื่องจากหลายสิ่งในชีวิตจริงไม่ได้รับการตอบสนองรวดเร็วดังที่ใจต้องการ

นอกจากนี้ เด็กที่ติดโทรศัพท์มือถือยังมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการของโรคสมาธิสั้นเทียม (Pseudo-ADHD) เนื่องจากสมองถูกสีสันสดใส ภาพและแสงเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในจอภาพเร้าให้เกิดความตื่นตาตื่นใจตลอดเวลา จนสมองเกิดความเคยชินต่อสิ่งเร้าและมีปัญหาเมื่อต้องดำเนินกิจกรรมในชีวิตตามปกติ เช่น เข้าชั้นเรียน อ่านหนังสือ หรือทำงานบ้าน เด็กจะไม่สามารถมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้นาน ไม่สนใจใส่ใจรายละเอียดของสิ่งรอบตัว หรือไม่สามารถนั่งอยู่เฉยได้ ซึ่งเมื่อมีลักษณะอาการดังกล่าวหากไม่รีบแก้ไขจะส่งผลเสียอย่างมากต่อพัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็กในระยะยาว

3.การเจ็บป่วยทางสังคม – โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนนั้นเป็นเพียงโลกเสมือนสำหรับเด็กได้ค้นหาและลองผิดลองถูกด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม โดยพื้นฐานแล้ววัยเด็กที่กำลังเติบโตจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองผ่านการเชื่อมโยงเข้ากับกิจกรรมทางสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบตัว เพื่อเรียนรู้ถึงการตอบสนองต่ออารมณ์ สีหน้า แววตา ท่าทาง การแสดงออกและความคาดหวังจากบุคคลอื่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบทบาท ตัวตนและความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม

การติดโทรศัพท์มือถือเป็นส่วนสำคัญในการแยกตัวเด็กออกจากการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นจริง เนื่องจากเมื่อมีโทรศัพท์มือถือเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่าและชื่นชอบมากกว่า เด็กจึงไม่พยายามปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นซึ่งยิ่งทำให้การเข้าสังคมเป็นไปได้ยากขึ้น ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆตามมา ทั้งไม่สนใจการเรียน ไม่กระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆรอบตัว บางรายอาจมีโลกส่วนตัวสูงหรือคบหาเฉพาะเพื่อนในอินเตอร์เน็ตซึ่งมีความเสี่ยงต่อพฤติกรรมเลียนแบบที่ขาดความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเพียงใด โลกของเด็กๆก็มีสิ่งน่าสนใจให้ชวนจดจ่ออยู่เสมอ แต่เปลี่ยนรูปแบบไปบ้างตามยุคสมัย แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าโทรศัพท์มือถือมีคุณประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตมากมาย แต่เมื่อได้พิจารณาถึงอันตรายแล้ว คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรนิ่งเฉยต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างละมุนละม่อม ซึ่งวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่จึงควรใช้โทรศัพท์มือถือด้วยความระมัดระวังและเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และพยายามใช้เวลาของครอบครัวทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันอย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอันตรายจากการติดโทรศัพท์มือถือแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความรักความผูกพันในครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย

21 January 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet

Views, 9187

 

Preset Colors