02 149 5555 ถึง 60

 

ไม่ได้มีแค่ซึมเศร้า! 3 ผิดปกติทางจิตหลังคลอด คุณพ่อเสี่ยงเป็นได้เหมือนกัน

ไม่ได้มีแค่ซึมเศร้า! 3 ผิดปกติทางจิตหลังคลอด คุณพ่อเสี่ยงเป็นได้เหมือนกัน

ในสภาวะผู้หญิงที่อยู่ในสถานะ “แม่” หลังจากที่ต้องคอยเฝ้าดูแลประคับประหงมลูกเป็นอย่างดีโดยที่ไม่เคยเห็นหน้าลูกตั้งแต่ตอนอยู่ในท้องเกือบ 9 เดือน แต่หลังจากคลอด ซึ่งเป็นเวลาแห่งความสุขที่ได้ใกล้ชิด อุ้ม กอด หอมแก้มลูก ไฉนจึงเกิดความซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งเป็นภาวะที่คุณแม่มือใหม่ทุกคนต้องเจอมาบั่นทอนความสุข

แม้แต่คุณแม่ลูกแฝด “ชมพู่ อารยา” ดาราดัง ที่เปิดใจให้สัมภาษณ์นิตยสารแพรวว่า แม้ตนมั่นใจว่าจิตใจแข็งแรง ไม่น่าเจอปัญหานี้ได้ แต่สุดท้ายก็เป็นอีกคนที่ต้องเผชิญสภาวะซึมเศร้าหลังคลอดลูก เหมือนแม่คนอื่นๆ ที่บางวันนอนร้องไห้เหมือนคนบ้า อารมณ์โมโหอะไรหลายอย่าง แม้แต่นอนน้ำตาไหลอยู่คนเดียว

สำหรับคนที่ยังไม่เคยมีลูก จึงไม่ค่อยนึกถึงและอาจจะไม่เชื่อว่าภาวะซึมเศร้านี้ แท้จริงอันตรายกว่าที่คิด เป็นสัญญาณว่าอาจเสี่ยงเป็นโรคจิตได้ หากปล่อยให้อาการเป็นนานเกิน 6 เดือน ในเมื่อภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นเรื่องของ “แม่” ทุกคนต้องเจอ แล้วจะมีวิธีการเตรียมตัว เตรียมใจ ตั้งรับอย่างไร ยิ่งในกรณีคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว จะมีความเสี่ยงสูงอย่างไร วันนี้ทีมข่าวฯ มีคำตอบในทุกข้อสงสัยจาก พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด

ไม่ได้มีแค่ซึมเศร้า 3 ความผิดปกติทางจิต พบบ่อยหลังคลอด

โดย พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด เริ่มอธิบายว่า หลังคลอดลูกถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิตของลูกผู้หญิง และมักเกิด 3 สภาวะความผิดปกติทางจิตใจหลังคลอดที่มีอาการตั้งแต่เบาไปหนัก ขึ้นอยู่กับร่างกายและสภาพแวดล้อมของแต่ละคน ดังนี้

1. ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum blue หรือ Baby Blue ) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่แม่มือใหม่ต้องเจอระหว่างวันที่ 3-10 หลังจากคลอดบุตร เพราะระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงลดลงตามธรรมชาติ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความเครียดโดยปกติทั่วไป เนื่องจากหลังคลอด อดนอน นอนน้อย ต้องดูแลลูก เหตุเพราะไม่มีคนช่วยเลี้ยงลูก โดยเฉพาะแม่ที่ให้นมลูกก็ต้องตื่นบ่อยๆ แต่หลังจากที่ได้หลับนานๆ เพื่อฟื้นร่างกายก็จะกลับมาเป็นปกติ และจะมีอาการอ่อนเพลีย วิตกกังวล อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย ร้องไห้ง่าย เศร้าง่าย เซื่องซึมง่ายบ้าง ถือว่าอาการไม่รุนแรง

5 ใน 9 อาการเสี่ยงโรคซึมเศร้า ต้องมีข้อ 1 ข้อ 2 ร่วม

ส่วนภาวะที่ 2 คือ โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) ซึ่งต่อเนื่องจากภาวะแรกหากมีอาการนานเกิน 2 สัปดาห์ ก็จำเป็นต้องรักษาและพบแพทย์ ซึ่งอาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอด พญ.สุธีรา ชี้แจงรายละเอียด ดังนี้

1. ซึมเศร้า หม่นหมอง หดหู่ ร้องไห้

2. ความรู้สึกสนุก สนใจ ทำกิจวัตรประจำวันที่เคยชอบลดลง หรือรู้สึกเบื่อหน่ายในการดูแลลูก

3. เบื่ออาหารหรืออยากกินอาหารตลอดเวลา

4. ไม่มีกะจิตกะใจทำอะไร เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียตลอดเวลา

5. การนอนเปลี่ยนแปลง อาจง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา หรือนอนไม่หลับ

6. รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เป็นแม่ที่ไม่มีความสามารถ

7. ไม่มีสมาธิ ความคิด อ่าน จดจ่อในสิ่งที่ทำลดลง

8. เคลื่อนไหวช้าลง หรืออยู่ไม่สุข

9. มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย

ทั้งนี้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดนั้น ต้องอาการอย่างน้อย 5 ใน 9 ข้อ และมีข้อ 1 ข้อ 2 ร่วมด้วย ซึ่งอาการทั้ง 9 จะมีอาการต่อเนื่องเกือบตลอดเวลา และเป็นทุกวันไม่มีทางหายเอง หรือเป็นๆ หายๆ และต้องมีอาการขึ้นมาเองจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ไม่ใช่จากผลข้างเคียงของการใช้ยา การวินิจฉัยต้องการระยะเวลาที่เป็นต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ภาวะโคม่า ปฏิเสธลูก ปฏิเสธโลก คิดฆ่าตัว คนรอบข้าง แม้กระทั่งลูกรัก

สำหรับภาวะที่ 3 ซึ่งพญ.สุธีรา กล่าวว่า เป็นอาการที่รุนแรงสุด เป็นภาวะอันตราย และฉุกเฉินที่ต้องไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ถึงแม้พบได้ไม่บ่อย ประมาณ 0.1-0.2% แต่อาการมักรุนแรง นั่นคือ โรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis)

โดยมักจะมีอาการทางระบบประสาท อาทิ หวาดระแวง ประสาทหลอน เช่น มีหูแว่ว พฤติกรรมแปลกประหลาด วุ่นวายผิดแปลก อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง ซึมเศร้า หรืออารมณ์ดีแบบไม่สมเหตุสมผล และอารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว มีความคิดหลงผิด คิดว่าลูกไม่ใช่ลูกตัวเอง หรือมีการคิดทำร้ายตนเอง คนรอบข้าง หรือแม้กระทั่งลูกน้อย

“ภาวะ 3 ในไทยเจอเรื่อยๆ เมื่อมีอาการทางจิตเวชจะทำให้ไม่สามารถดูแลลูกได้ โดยเฉพาะผู้ที่ดูแลลูกตามลำพัง ไม่มีใครคอยให้คำแนะนำ หรือคอยถามไถ่ความรู้สึก อาจทำให้ลูกมีอันตรายได้ บางรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีความคิดฆ่าตัวตาย หรือฆ่าลูกตนเอง เพราะรู้สึกว่าทุกอย่างแย่ไปหมด ไม่มีความสมเหตุสมผล กินไม่ได้ นอนไม่หลับ รู้สึกว่าเป็นแม่ที่ไม่ดี ต้องพบหมอด้านจิตเวช หรือต้องนอนรักษาที่โรงพยาบาล” พญ.สุธีรากล่าว

เป็นนานสุด 6 เดือน ยึดความอดทน ยาป้องกัน เยียวยา คือครอบครัว

สำหรับหลักการดูแลผู้มีภาวะผิดปกติทางจิตใจหลังคลอด พญ.สุธีรา ระบุว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือคนรอบข้าง ใกล้ชิด เช่น พ่อ แม่ สามี ต้องคอยสังเกต และยื่นมือเข้ามาช่วย โดยต้องอดทน เข้าใจกัน คอยให้กำลังใจ สนับสนุน ช่วยกันให้ผ่านแต่ละเหตุการณ์ไปให้ได้ อย่าตำหนิ โกรธ โมโห เวลาคุณแม่มีอารมณ์เหวี่ยง คุณพ่อควรผลัดเปลี่ยนกันดูแลลูก เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อน ช่วยลดปัญหาการนอนไม่หลับ

ชวนคุณแม่ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะเลี้ยงลูกอย่างเดียว เช่น ชวนกันเดินออกกำลังกาย พาไปเที่ยวพักผ่อน พาไปกินอาหารร้านโปรด หรือซื้อของขวัญมาให้ และครอบครัวต้องช่วยกันคอยสังเกตอาการของคุณแม่ หากมีภาวะอาการ 1 กับ 2 มากกว่า 2 สัปดาห์ โดยมีอาการมากขึ้นกระทั่งมีความคิดฆ่าตัวตาย หรือมีพฤติกรรมแปลกๆ ผิดจากคนทั่วไปให้รีบไปพบแพทย์ เพราะเท่ากับว่าได้พัฒนาอาการเข้าสู่ภาวะที่ 3 ไปเป็นโรคแล้ว

“การดูแลแม่ที่ผิดปกติทางจิตใจในภาวะที่ 1 กับ 2 ส่วนใหญ่อาการจะหายไปเอง นานสุดภายใน 6 เดือน หรือบางคนประมาณ 2-3 เดือน เพราะลูกเริ่มปรับตัวกับโลกใบใหม่ได้แล้ว เลี้ยงง่ายขึ้น กินนอนเป็นเวลามากขึ้น แม่ก็ดีขึ้น แต่บางคน 6 เดือนเพราะฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์กว่าจะเข้าที่เข้าทางต้องใช้เวลา 6 เดือน ส่วนภาวะที่ 3 ต้องรักษาประมาณ 6 เดือน - หนึ่งปี ส่วนคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้วก็มีความเสี่ยงมากขึ้นที่อาจจะซึมเศร้าหลังคลอด บางคนมีอาการตั้งแต่ตั้งครรภ์ ต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อปรับยาให้ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายกับลูก” กุมารแพทย์ทารกแรกเกิดแนะนำ

คุณพ่อมือใหม่ เสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้า รู้ทันก่อนคุกคาม

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่คนเป็นแม่เท่านั้นที่จะรู้สึกซึมเศร้า พญ.สุธีรา เปิดเผยว่า ผู้เป็นพ่อที่ต้องดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ก็อาจเกิดสภาวะความผิดปกติทางจิตใจเกิดภาวะซึมเศร้าในช่วง 3-6 เดือนแรกหลังลูกคลอด เนื่องจากการอดนอน โดยอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ ความเครียดจากบทบาท ฐานะและความรับผิดชอบใหม่ในชีวิต อาจจะกลัวและกังวลว่าจะทำได้ไม่ดี ซึ่งในบางคนอาจรู้สึกเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ในช่วงตั้งครรภ์ และหลังจากที่คุณแม่คลอดลูก ปัญหาทางด้านการเงิน

อาการซึมเศร้าหลังคลอดของคุณพ่อมือใหม่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เมื่อได้พักผ่อนนอนหลับ ออกกำลังกาย สังสรรค์กับเพื่อนก็ดีขึ้น แต่ก็ต้องการความช่วยเหลือ ครอบครัวควรหมั่นถามไถ่ พูดถึงความรู้สึกของกันและกัน ถามสารทุกข์สุกดิบร่วมกัน และหาเวลาจัดสรรการพักผ่อนให้เหมาะสม ส่วนคุณพ่อที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่จะรุนแรงและอาการไม่ดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์

“คุณพ่อมือใหม่ส่วนใหญ่มักไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน เมื่ออยากเข้ามาช่วยภรรยาดูแลลูก แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ช่วยอย่างไร จนทำให้เครียดก็จะนำไปสู่อาการซึมเศร้าได้ ภาวะซึมเศร้า ผู้ชายจะเจอน้อยกว่า อาจจะมีภาวะเครียดทางการงาน หรือว่ามีโรคทางจิตเวชอยู่แล้ว ภาวะตึงรัดทางเศรษฐกิจ หาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว ลูก ได้น้อย เป็นความเครียดทั่วๆ ไป” พญ.สุธีรากล่าว

17 December 2561

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 31482

 

Preset Colors