02 149 5555 ถึง 60

 

4 โลกออนไลน์สุดฮิตคนไทย เสี่ยงซึมเศร้าคู่จิตเวช ใช้วิชาชีวิตปกป้อง

4 โลกออนไลน์สุดฮิตคนไทย เสี่ยงซึมเศร้าคู่จิตเวช ใช้วิชาชีวิตปกป้อง

ยุค 4.0 ต้องยอมรับว่าสมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนทุกวัย นอกจากใช้สื่อสารระหว่างคนในครอบครัวแล้ว สมาร์ทโฟน เพียงเครื่องเดียวยังสามารถทำได้หลายอย่าง แค่ปลายนิ้วคลิกเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ทั้ง ดูหนัง ละคร ฟังเพลง ทั้งดูย้อนหลัง และดูสดๆ เต็มไปด้วยแหล่งรวมความรู้ โซเชียลมีเดีย รวมถึงเกมต่างๆ

ซึ่งความทันสมัยของเทคโนโลยีที่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากใช้อย่างพอดีก็จะได้รับทั้งประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย แต่หากไม่แบ่งเวลาในการใช้ก็ทำให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพได้ในทุกวัย โดยเฉพาะกับเด็กที่อาจจะเข้าสู่ภาวะ “โรคเสพติดเกม” โดยไม่รู้ตัว ซึ่งพ่อ แม่ ต้องดูแลลูกอย่างจริงจัง หากละเลยลูกอาจเกิดอาการจิตเวชได้

ลูกเขียนด่าแม่ เหตุห้ามเล่นมือถือ

ดังกรณีล่าสุดที่เกิดจากการใช้สมาร์ทโฟนเกินพอดีที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รับการเปิดเผยจากผู้เป็นแม่ของเด็กสาววัย 11 ขวบ รายหนึ่งว่าลูกของเธอนั้นมีอาการติดมือถือหนักมาก แม้เธอจะเตือนด้วยความห่วงใย ก็ไม่เป็นผล ตกกลางคืน 4-5 ทุ่ม ปิดไฟแล้ว ลูกก็ยังแอบเล่นมือถืออยู่ จะขอเก็บมือถือ ไม่ให้เล่นก็อาละวาด ตะโกนใส่ เมื่อตีเพื่อตักเตือนก็เขียนใส่กระดาษด่าทอด้วยถ้อยคำรุนแรงและหยาบคาย สร้างความกังวลใจจนเธอต้องพาลูกไปพบหมอ ขณะนี้ลูกสาวเล่นมือถือน้อยลงและเชื่อฟังเธอแล้ว

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวกับครอบครัวอื่นได้ จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่ยุคนี้ควรรีบป้องกันลูกอย่างจริงจังให้พ้นจากภาวะ “โรคเสพติดเกม” แล้วพ่อ แม่จะสอนให้ลูกใช้เทคโนโลยีให้ถูกต้อง เหมาะสมได้อย่างไร "รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี" กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น, ผอ.ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำแนะนำวิธีสังเกตและรักษาเยียวยา

3 สัญญาณเตือน ลูกติดมือถือ WHO ระบุ คือ อาการทางจิต

รศ.นพ.สุริยเดว ระบุว่ากรณีลูกเขียนด่าแม่นั้นเพราะเด็กเสี่ยงต่อการเป็นโรคเสพติดเกม ตามที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศลงในคู่มืออ้างอิงโรคฉบับใหม่ในหมวดหมู่ความผิดปกติทางจิต ไม่ใช่แค่พฤติกรรมการติดเกม ติดมือถือ ติดอินเทอร์เน็ต หากแต่เป็นโรค ซึ่งมี 3 สัญญาณอาการ คือ

1. เล่นจนหลุดโลก วิถีชีวิตประจำวันเสีย คือ เล่นจนไม่กิน ไม่นอน ไม่อาบน้ำ หรือทิ้งการเรียน

2. ต้องการเล่นมากขึ้นเรื่อยๆ

3. เมื่อไม่ได้เล่นจะลงแดง ไม่สามารถคุมอารมณ์และสติอารมณ์ตัวเอง อาละวาดจนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ทั้งทางด้านวาจา จิตใจ รวมไปถึงลงไม้ลงมือ

หากเด็กเข้าข่ายใน 3 ลักษณะนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเสพติดเกม พ่อแม่ ไม่สามารถควบคุมได้ ต้องพาพบจิตแพทย์สถานเดียวเท่านั้น

เมื่อมาพบจิตแพทย์ก็จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเสพติดเกมหรือไม่ ถ้าเป็นก็ใช้กระบวนการบำบัดเหมือนการบำบัดยาเสพติด อาทิ การใช้หลักทางจิตวิทยาในการสงบสติอารมณ์ เช่น พฤติกรรมหรือครอบครัวบำบัด หากอารมณ์หุนหันรุนแรงจนควบคุมไม่ได้ก็อาจจำเป็นต้องใช้ยาร่วมในการรักษาให้สงบ จากนั้นก็พัฒนาทางด้านกิจกรรม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ ลูก โดยใช้หลักครอบครัวบำบัด

พ่อ แม่ รังสรรค์ วิชาชีวิต เกราะคุ้มภัยลูก

กลไกการป้องกันลูกวัยเรียน วัยรุ่นให้พันสภาวะโรคเสพติดเกม กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ชี้แนะ ต้องเริ่มฝึกระเบียบวินัยตั้งแต่ชั้นอนุบาล ฝึกวิถีชีวิตให้เรียนรู้ และแยกแยะได้ว่าอะไรดี ไม่ดี ให้รู้จักควบคุมความต้องการของตัวเองให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมกับสถานที่ โดยมีหลักพื้นฐาน ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ตัวเอง และไม่ทำลายข้าวของ

สำหรับการจำกัดการใช้มือถือ อย่าให้มากชั่วโมงเกินไป แต่การที่พ่อแม่จะตั้งกฎเกณฑ์ใดขึ้นมา สิ่งแรกที่พ่อแม่ ควรคำนึงถึงคือ ต้องมีกิจกรรมทางเลือกเยอะๆ ให้ทำ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่พ่อแม่ต้องรังสรรค์ “วิชาชีวิต” ให้ลูกได้ทำร่วมกันทั้งในบ้านและนอกบ้าน เช่น ทำกับข้าว ปัดกวาด ถูบ้าน ล้างจาน วางแผนไปเที่ยว ทำกิจกรรมนอกบ้านเเบ่งปันน้ำใจ ช่วยเหลือผู้อื่น

เมื่อลูกเข้าร่วมกิจกรรมแล้ว สิ่งที่พ่อแม่ห้ามมองข้าม คือ ควรชื่นชมให้กำลังใจลูกเสมอเมื่อทำสิ่งที่ดี จะทำให้ลูกมีกำลังใจอยากทำสิ่งดีๆ ต่อไป และจะเชื่อฟังสิ่งที่พ่อแม่สอนด้วย อีกสิ่งสำคัญคือ พ่อ แม่ต้องทำบ้านให้เป็น Happy Home ให้เวลากับลูก โดยพึงคิดไว้เสมอว่าเด็กทุกคนต้องการความสนใจ โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นวัยรุ่น แม้จะมีเวลาแค่เพียงวันละ 10-20 นาที หรือแม้แต่ 5 นาที ขอให้สร้างช่วงเวลาแห่งความสุขร่วมกันของ พ่อ แม่ ลูก จากกิจกรรม

“การกำหนด กฎเกณฑ์อะไรก็ตาม หากลูกไม่มาร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ ถึงกฎที่วางไว้ก็จะเกิดการงัดข้อ พ่อแม่ก็ต้องคุมสติอารมณ์ตัวเองให้ได้ อย่าหักดิบ มีโอกาสเป็นเรื่องสูง เพราะเขาอาจไม่ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น หรือทำลายข้าวของก็จริง แต่อาจเกิดภาวะซึมเศร้าต่างๆ ควบคู่ได้ การให้ทำกิจกรรมอื่นต้องดูว่าลูกชอบทำอะไร เก่งด้านไหนด้วย” รศ.นพ.สุริยเดวกล่าว

ETDA เผย 4 โลกออนไลน์สุดฮิตคนไทย Gen Y ครองแชมป์เป็นปีที่ 4

สืบเนื่องจากคนไทยผูกติดกับดิจิทัลจนกลายเป็นสังคมก้มหน้าหนักขึ้นๆ ปัจจุบันคนไทยใช้เวลาแต่ละวันจดจ่อจอมือถือในเรื่องใด ทุ่มเวลาท่องโลกออนไลน์กี่ชั่วโมง จากการสอบถามราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นปีแรกที่ได้จัดโครงการ “Healthy Digital Family เสพสื่อ ใช้สติ มีสไตล์ ให้สตรอง” ตามพระดำริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยประชาชน

โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงจากภัยอันตรายของสื่อดิจิทัลมากที่สุด หากขาดความเข้าใจในการใช้สื่อดิจิทัลอย่างเหมาะสม โดยจัดงานนิทรรศการ และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ดาราที่มีประสบการณ์ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ตามศูนย์การค้าต่างๆ ในเซ็นทรัล พลาซ่า เวสต์เกต, เซ็นทรัล พลาซ่า นครราชสีมา, เซ็นทรัล พลาซ่า ชลบุรี และฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต

มีข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประเทศไทยปี 2561 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า พฤติกรรมคนไทยใช้เน็ตนานขึ้นเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน เพิ่มจากปีก่อน 3 ชั่วโมง 41 นาทีต่อวัน โดย Gen Y ครองแชมป์ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 4 เป็นผลจากการเปลี่ยนผ่านชีวิตไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ คนไทยยังนิยมใช้โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และพันทิป สูงมากถึง 3 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน ขณะที่การรับชมวิดีโอสตรีมมิ่ง เช่น ยูทูบ ไลน์ทีวี มีชั่วโมงการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชั่วโมง 35 นาทีต่อวัน ส่วนการใช้แอปพลิเคชันเพื่อพูดคุย เช่น แมสเซ็นเจอร์ และไลน์ เฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชั่วโมงต่อวัน การเล่นเกมออนไลน์อยู่ที่ 1 ชั่วโมง 51 นาทีต่อวัน และการอ่านบทความ หรือหนังสือทางออนไลน์อยู่ที่ 1 ชั่วโมง 31 นาทีต่อวัน

พฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนตามยุค ฉุดยอดโทรศัพท์พูดคุยลดฮวบ

จากพฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนมาใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นๆ นี้ส่งผลให้ปริมาณการใช้มือถือโทรพูดคุยกัน หรือบริการทางเสียงลดลงด้วย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ไตรมาส 1 ปี 61 ปริมาณการใช้มือถือโทรศัพท์พูดคุยกัน หรือบริการทางเสียง ลดลง 13% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 60 ซึ่งมีปริมาณการโทร 8,900 ล้านนาที ขณะที่ไตรมาส 1 ปี 61 ปริมาณการโทร 7,700 ล้านนาที

ส่วนปริมาณการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือไตรมาส 1 เพิ่มขึ้น 16.95% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 60 เพิ่มจาก 1,033,022 เทราไบต์ เป็น 1,208,046 เทราไบต์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคนไทยเปลี่ยนรูปแบบการใช้มือถือ จากที่ใช้โทรหากัน หันมานิยมโทรหากันผ่านอินเทอร์เน็ตบนมือถือด้วยแอปพลิเคชันยอดฮิตต่างๆ อาทิ ไลน์ (Line) วอทส์แอพ (WhatsApp) สไกป์ (skype) และเมสเซนเจอร์ (Messenger)

“จากข้อมูลแสดงให้เห็นพฤติกรรมคนไทย เปลี่ยนรูปแบบการใช้มือถือ จากที่โทรหากันด้วยเสียงโดยตรง มาเป็นการโทรหากันผ่านอินเตอร์เน็ต และใช้แชตข้อความหากัน ใช้งานดาต้าผ่านโทรศัพท์เพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน” นายฐากร กล่าว

นั่งเล่นมือถือนาน ขาดการเคลื่อนไหวทั้งวัน สุ่มเสี่ยงเกิดโรคอ้วน

การมีพฤติกรรมติดอยู่กับการเล่นโทรศัพท์มือถือแทบจะตลอดเวลานี้ จะเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพร่างกายในหลายด้าน โดยหลักๆ เป็นเรื่องสายตา ซึ่ง พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษ กสธ. อธิบายว่า แสง เป็นหลักพื้นฐานของการใช้อุปกรณ์หน้าจอทั้งหมด

หากแสงไม่พอเหมาะ เช่น ในที่แสงน้อย หน้าจอจะจ้ามากก็มีผลกับการรับแสง หรือถ้าแสงจ้ามากเกินไป ก็ทำให้ต้องเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็กนานเกินไปก็จะทำให้มีอาการ ตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง และอาจส่งผลให้วุ้นในตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อมได้

ทั้งนี้อาการที่บ่งบอกว่าใช้สายตากับจอมือถือต่อเนื่องนานเกินไป จะรู้สึกล้าที่ตา แสบตา น้ำตาไหล กรณีคนที่ติดเล่นเกมจะมีอาการปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ เนื่องจากขณะเล่นมีการเกร็งลุ้น ทั้งนี้อาจเกิดอีกปัญหาซึ่งแม้พฤติกรรมการเล่นมือถือจะไม่ส่งผลโดยตรง แต่หากบางคนเพลิดเพลินนั่งทั้งวันโดยไม่ลุกเดินไปไหน ร่วมกับพฤติกรรมการกินของทอด มัน กินเยอะ กินมาก กินดึก เหล่านี้ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคเรื่อรังอื่นๆ ได้

อย่างไรก็ดี พญ.พรรณพิมล ฝากเตือนว่าการเล่นโทรศัพท์มากกว่า 2 ชั่วโมง ก่อนนอนจะส่งผลให้นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท เนื่องด้วยหน้าจอโทรศัพท์มีแสงสีฟ้า (blue light) ซึ่งผลิตสารเมลาโทนิน (Melatonin) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการหลับและการตื่น การได้รับแสงสีฟ้าในเวลากลางคืนจะทำให้สมองคิดว่าเป็นเวลากลางวันจึงพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้รู้สึกอ่อนล้าในตอนกลางวัน ส่งผลต่อระบบความจำมีปัญหา การเรียน หรือทำงานขาดประสิทธิภาพ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่นด้วย เช่น วูบหลับขณะใช้รถใช้ถนน หรือใช้เครื่องจักรได้

“เมื่อไหร่ที่รู้สึกล้า แสบตา น้ำตาไหล ควรพักสายตา ไม่จดจ้องอะไรเป็นหลัก และควรงดเล่นมือถือก่อนเข้านอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้ปรับการทำงานของดวงตาเข้าสู่การพักผ่อน” พญ.พรรณพิมลกล่าว

11 December 2561

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2838

 

Preset Colors