02 149 5555 ถึง 60

 

กรมการแพทย์ ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สร้างความแข็งแกร่งของสถาบันครอบครัว เพื่ออนาคตเด็กไทย

กรมการแพทย์ ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สร้างความแข็งแกร่งของสถาบันครอบครัว เพื่ออนาคตเด็กไทย

องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก และ รัฐบาลไทยได้กำหนดให้ เดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก โดยมีการร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และองค์กรยูนิเซฟ เป็นต้น กรมการแพทย์ โดย สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก โดยจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเกิดความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักในการป้องกันปัญหา รวมถึง การแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก เนื่องจาก ครอบครัว มีส่วนสำคัญที่สุดที่จะ ร่วมสร้างสุขภาพกาย สุขภาพใจและพัฒนาการทางสังคมให้เด็กมีคุณภาพ เป็นอนาคตที่สำคัญของชาติ

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าสถานการณ์ ในปัจจุบัน มีการใช้ความรุนแรงกับเด็กมากขึ้น ซึ่งอาจมาจากบุคคลภายในครอบครัว บุคคลที่เด็กรู้จัก ญาติที่ใกล้ชิดกับเด็ก หรือบุคคลภายนอก จากการถูกกระทำรุนแรงส่งผลกระทบด้านร่างกาย อารมณ์จิตใจ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2558 พบว่า มีเด็กถูกกระทำ 10,776 คน แบ่งเป็นถูกกระทำทางด้านร่างกาย 2,470 คน ทางด้านอารมณ์ จิตใจ 638 คน ถูกกระทำทางเพศ 6,740 คน ถูกละเลยทอดทิ้ง 673 คน และถูกล่อลวง/บังคับแสวงหาผลประโยชน์ 255 คน จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กไทย ดังกล่าว กรมการแพทย์ นอกจากเน้น ด้านการดูแลรักษาเด็ก เหล่านี้และ ยังให้ความสำคัญเชิงป้องกัน โดย สนับสนุนการจัดกิจกรรม รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่าสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นโรงพยาบาลรัฐบาลเพียงแห่งเดียวที่ให้บริการด้านการดูแลรักษาเด็กอย่างครบวงจร ในส่วนของความรุนแรงในเด็ก ได้เปิดบริการศูนย์พึ่งได้เพื่อเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และพ.ร.บ. คุ้มครองผู้ที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 โดยมีเป้าหมายในการสงเคราะห์และคุ้มครองเพื่อให้เด็กปลอดภัย ไม่ถูกกระทำซ้ำ และสามารถกลับไปดำเนินชีวิตต่อในสังคมอย่างปกติสุข มีการทำงานแบบสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ความสำคัญในการดูแลเด็กทุกมิติทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม จากสถิติศูนย์พึ่ง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ปีงบประมาณ 2561 พบว่า มีเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง เข้ารับบริการ 109 คน แยกเป็นเด็กชาย 59 คน เด็กหญิง 50 คน มีเด็กอายุแรกเกิด ถึง 1ปี 80 คน รองลงมา อายุ 1-5 ปี 21 คน สำหรับประเภทการถูกกระทำรุนแรง พบว่า เลี้ยงดูไม่เหมาะสม ละเลย ทอดทิ้ง มีจำนวนมากที่สุด คือ 80 คน ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ 16 คน และทางด้านร่างกาย 13 คน จากจำนวนดังกล่าว พบว่าเด็กถูกกระทำรุนแรงจากบุคคลภายในครอบครัวหรือญาติ สูงถึง 96 คน ในปีนี้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก ภายใต้หัวข้อ “เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ หยุดใช้ความรุนแรง” โดยมีการบรรยาย การจัดนิทรรศการ ถาม-ตอบปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 ณ บริเวณห้องตรวจอายุรกรรมชั้น 2 อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

26 November 2561

ที่มา บ้านเมือง

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet

Views, 820

 

Preset Colors