02 149 5555 ถึง 60

 

การบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัย (1)/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

การบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัย (1)/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไป ดิฉันจะขอนำงานวิจัยของตัวเองในระดับปริญญาเอก สาขาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “การบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัย” มาสกัดเป็นภาษาง่าย ๆ และสรุป เพื่อเผยแพร่เป็นตอน ๆ เพราะเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อวงการการศึกษาปฐมวัย และผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องปฐมวัย โดยเฉพาะในอีก 10 ปีข้างหน้า

แรกเริ่มที่ดิฉันตัดสินใจเลือกทำงานวิจัยเรื่องนี้ เกิดจากความสนใจส่วนตัวในเรื่องเด็กปฐมวัย ประกอบกับทำงานวิชาชีพสื่อทางด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว มาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ได้มีโอกาสสัมผัสนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านปฐมวัยจำนวนมาก ทำให้เกิดข้อคำถามและข้อสงสัยบางประการเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยในยุคดิจิทัล

โดยเฉพาะประเด็นที่บรรดานักวิชาการปฐมวัยและผู้ที่เกี่ยวข้องต่างก็ประสานเสียงไม่ควรให้เด็กปฐมวัยสัมผัสกับสื่อดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แทบเล็ต จอคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เพราะเป็นการขัดขวางพัฒนาการต่าง ๆ อย่างรอบด้านที่เหมาะสมกับวัย

แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยกระแสโลกดิจิทัลที่ถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว ผนวกกับค่านิยมผิด ๆ ที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง หยิบยื่นเครื่องมือสื่อดิจิทัลให้กับลูกเล็ก เราจึงเห็นเด็กเล็ก อยู่กับโทรศัพท์มือถือ หรือแทบเล็ต ฯลฯ บ่อย ๆ

คำถามก็คือในเมื่อเราปฏิเสธโลกเทคโนโลยีไม่ได้ แล้วเราจะทำอย่างไร?

และผู้ใหญ่รุ่นเราจะสามารถบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัยในยุคหน้าต่อไปอย่างเหมาะสมได้อย่างไร?

การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยอนาคตข้างหน้าระยะเวลา 10 ปี โดยกำหนดให้เป็นการวิจัยเชิงอนาคต เริ่มต้นจากการใช้เทคนิค Ethnographic Delphi Future Research (EDFR) คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญแบบเจาะจงจำนวน 17 คน เพื่อสัมภาษณ์ สังเคราะห์ข้อมูล จากนั้นให้ผู้เชี่ยวชาญยืนยันด้วยการตอบแบบสอบถาม เพื่อดำเนินการศึกษาอนาคตภาพในการบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัย แล้วนำผลที่ได้ไปใช้กับกลุ่มตัวอย่าง คือบุคลากรที่เกี่ยวข้องในโรงเรียนที่จัดการศึกษาปฐมวัยซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จาก 94 โรงเรียน จำนวน 282 คน ด้วยเทคนิคการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน หรือ Confirmatory Factor Analysis (CFA) เพื่อยืนยันอีกครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์สองข้อ

ข้อแรก - เพื่อทราบอนาคตภาพในการบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัย

ข้อสอง - เพื่อความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัยของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในโรงเรียนที่จัดการศึกษาปฐมวัยซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร

ฉบับนี้ขอเริ่มต้นตอนแรกจากที่มาและความสำคัญของปัญหา โดยรวบรวมข้อมูลจากทั่วสารทิศ ซึ่งพบว่าข้อมูลหรืองานวิจัยเรื่องสื่อดิจิทัลกับเด็กปฐมวัยในบ้านเรายังมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ โดยภาพรวมพบว่าการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า รวดเร็ว และดีมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญหลายประการ แต่ในบรรดาปัจจัยที่สำคัญเหล่านั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ปัจจัยทางด้าน“ทรัพยากรมนุษย์” (Human Resources) เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ การที่จะพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิโดยเฉพาะในช่วง “ปฐมวัย” ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาทั้งปวง

เจมส์ เจ แฮ็คแมน ((James J. Heckman)) นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลปี 2000 จาก มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวไว้ว่า “การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าให้ผลตอบแทนแก่สังคมดีที่สุดในระยะยาว โดยคืนผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคตมากถึง 7 เท่า เป็นทั้งการเพิ่มคุณภาพทรัพยากรบุคคลของประเทศ ลดอัตราการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และยิ่งเราเริ่มพัฒนาเด็กปฐมวัยได้เร็วมากขึ้นเท่าไหร่ ช่องว่างทางศักยภาพในการทำงาน ประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตในระบบเศรษฐกิจของคนคนนั้นก็จะยิ่งลดลง”

ดังนั้นการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยจึงถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

การศึกษาระดับ “ปฐมวัย” เพิ่งปรากฏครั้งแรกในแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 7 พ.ศ. 2535และได้มีการประชุมพิจารณาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนปัจจุบัน พิจารณาจากหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 พบว่า หลักการซึ่งถือเป็นหัวใจหลักคือ เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการอบรมเลี้ยงดูและการส่งเสริมพัฒนาการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตลอดจนได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างเหมาะสม ด้วยปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับพ่อแม่ เด็กกับผู้สอน เด็กกับผู้เลี้ยงดู หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดู การพัฒนา และให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กมีโอกาสพัฒนาตนเองตามลำดับขั้นของพัฒนาการทุกด้าน อย่างเป็นองค์รวม มีคุณภาพ และเต็มตามศักยภาพ

สิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศดีมีคุณภาพ ต้องผ่านกระบวนการหรือเครื่องมือสำคัญ ก็คือ “การศึกษา” (Education) เพราะการศึกษาที่มีคุณภาพสามารถเปลี่ยนแปลงคนไปในทางที่ดีกว่า เพราะการศึกษาคือความเจริญงอกงาม (Education is Growth) และทำหน้าที่พัฒนาคุณภาพชีวิตคน การศึกษาสามารถจัดคนเข้าสู่อาชีพตามความถนัดและความสนใจได้ การศึกษาสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ทันต่อเหตุการณ์ และแก้ปัญหาสังคม ประเทศและโลกได้

ดังนั้นการจัดการศึกษาเพื่อที่จะพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีคุณภาพ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาในทุก ๆ ด้านอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครู และผู้ปกครอง

เพื่อสนับสนุนให้เด็กเข้าถึงการศึกษาตามหลักการดังกล่าว รวมถึงเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว เด็กในยุคนี้จึงเกิดมาพร้อมกับสื่อดิจิทัล เทคโนโลยีได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตและการศึกษา หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเป็นอย่างมาก

นอกจากนั้นเทคโนโลยียังเป็นช่องทางการแบ่งปันข้อมูล ทรัพยากร เผยแพร่ และเชื่อมโยงความรู้ผ่านระบบเครือข่าย ระหว่างบุคคล ชุมชน และองค์กรทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว

สื่อดิจิทัลกับการศึกษาปฐมวัยเด็กยุคนี้ เกิดและเติบโตมาพร้อม ๆ กับการมีเทคโนโลยีรอบตัว สิ่งเหล่านี้ส่งผลกับมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ของเด็ก เทคโนโลยีได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตและการศึกษาหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีในการศึกษาเป็นอย่างมาก เช่น สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวไว้ว่า เทคโนโลยีมีความสำคัญมากสำหรับวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 เทคโนโลยีเอื้ออำนวย และเปิดโอกาสการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้เรียนตามรูปแบบที่ตนเองต้องการ ซึ่งอาจเป็นการทบทวนเนื้อหาในห้องเรียน หรือการสืบค้นความรู้ตามที่ตนสนใจ การใช้เทคโนโลยีสามารถลดข้อจำกัดในเรื่องของเนื้อหา เวลา สถานที่ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในการเรียนแบบดั้งเดิม ผู้เรียนสามารถกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองโดยเรียนผ่านแหล่งเรียนรู้ออนไลน์

แต่อย่างไรก็ตามการนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรนั้นอาจมีอุปสรรคอยู่บ้าง โดยเฉพาะในระยะแรกที่ต้องลงทุนสูง แต่เมื่อเทียบกับความคุ้มค่าแล้ว พบว่าเทคโนโลยีเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากในระยะยาว ไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์กับผู้เรียนในการฝึกทักษะการใช้งาน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคตเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ให้ประโยชน์กับผู้สอน เพื่อเสริมสร้างความเชี่ยวชาญในสาขาของตน และสามารถสร้างเนื้อหาเพื่อถ่ายทอดให้กับผู้เรียนอย่างเหมาะสมอีกด้วย

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นสื่อการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย มีงานวิจัยที่ศึกษาถึงพฤติกรรม และผลจากการใช้เทคโนโลยีกับเด็กปฐมวัย พบว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยสอนเด็กจะช่วยเพิ่มแรงกระตุ้น และสร้างแรงจูงในให้เด็กสนใจในการเรียนมากกว่าการเรียนแบบไม่ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย

The National Association for the Education of Young Children และ Fred Rogers Center for Early Leaning and Children’s Media at Saint Vincent College ยืนยันในรายงานประจำปี 2012 ว่า การใช้ เทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ ดีวีดี และเกม กับเด็กแรกเกิดจนกระทั่งถึง 8 ปี จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในเรื่องความคิด สติปัญญา และอารมณ์ แต่ทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขว่า จะต้องใช้อย่างถูกวิธีตามความเหมาะสม

ดังนั้น ความสามารถของครูปฐมวัยในเรื่องเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาของเด็กปฐมวัยในยุคปัจจุบัน

การที่จะนำเอาเทคโนโลยีมาใช้กับเด็ก สิ่งที่ต้องคำนึงคือ วิธีการเลือกเครื่องมือ และแอพพลิเคชั่น เครื่องมือที่นำมาใช้ในเรื่องการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีนั้น ต้องช่วยให้เด็กสามารถค้นคว้า สร้างโอกาสและต้องส่งเสริมให้เด็กมีทางเลือกในการสร้างจินตนาการ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านความสามารถของเทคโนโลยีในสมัยก่อน ทำให้เด็กใช้งานค่อนข้างยาก แต่ปัจจุบันเครื่องมือมีการพัฒนาไปเป็นระบบสั่งงานด้วยการสัมผัสหน้าจอ ทำให้การนำเทคโนโลยีมาใช้กับเด็กในยุคนี้ใช้งานง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยที่เน้นการใช้แท็บเล็ตเพื่อการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยโดยเฉพาะ ถึงแม้ว่างานวิจัยหลายชิ้นมีวิธีการดำเนินงานวิจัยที่แตกต่างกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้เห็นว่ามีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือประโยชน์ที่ได้รับจากการนำแท็บเล็ตไปใช้ ซึ่งควรบูรณาการเข้ากับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้

นอกจากนี้ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการนำไปใช้ประกอบด้วย 1. นโยบายของรัฐบาล 2. ความรู้ ความสามารถของผู้สอน และ 3. สิ่งแวดล้อม

แต่ขณะเดียวกันการนำคอมพิวเตอร์มาใช้จัดกิจกรรมนั้น ยังไม่แสดงถึงคุณค่าที่มีต่อการพัฒนาเด็กเทียบเท่ากับกิจกรรมอื่น ๆ เช่น กิจกรรมศิลปะ การเล่นบล็อก เล่นน้ำ เล่นทราย หนังสือ กิจกรรมสมมติ ฯลฯ ที่จัดอยู่ตามปกติในชั้นเรียนของเด็ก และมีข้อคิดเห็นว่า ถึงแม้คอมพิวเตอร์จะเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาเด็ก แต่ก็มีโอกาสที่จะถูกนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสมและอาจให้ผลตรงข้ามกับที่คาดหวังไว้

สิ่งสำคัญในการนำคอมพิวเตอร์มาเป็นกิจกรรมหรือเครื่องมือสำหรับเด็ก คือ ซอฟต์แวร์ ที่ต้องมีการเลือกสรรอย่างดี คัดเลือกที่จะนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้และการคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น จึงเสนอแนะว่า นักวิชาการหรือผู้ปฏิบัติงานกับเด็ก จะต้องใช้ดุลยพินิจอย่างมากในการคัดเลือกซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ รวมทั้งการใช้วิธีการที่เหมาะสมในการนำคอมพิวเตอร์ไปสู่การเรียนรู้ของเด็ก และจัดเวลาของการเล่นให้มีความสมดุล มีลักษณะเช่นเดียวกับเครื่องเล่นชนิดอื่น ๆ ในห้องเรียน

25 October 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 954

 

Preset Colors