02 149 5555 ถึง 60

 

“บุหรี่” ทำตายก่อนวัยเกือบ 18 ปี ชายไทย 1 ใน 6 ทุกข์ทรมานก่อนตาย

“บุหรี่” ทำตายก่อนวัยเกือบ 18 ปี ชายไทย 1 ใน 6 ทุกข์ทรมานก่อนตาย

สธ. เผย คนไทยตายจาก “บุหรี่” 5.4 หมื่นราย ตายก่อนวัยคนละเกือบ 18 ปี เป็นโรคเรื้อรังเสียคุณภาพชีวิตคนละ 3 ปี พบชายไทย 1 ใน 6 ต้องทุกข์ทรมานก่อนตาย

ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าคณะทำงานแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาดัชนีประเมินภาระโรคและสุขภาพประชากรไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการศึกษาติดตามจำนวนคนไทยที่เสียชีวิตจากหลากหลายโรคที่มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่ ในปี 2557 พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 54,512 ราย เป็นชาย 47,770 ราย หญิง 6,742 ราย เมื่อคำนวณจำนวนปีที่เสียชีวิตก่อนวัยและเวลาอันควร พบว่า คนสูบบุหรี่โดยเฉลี่ยตายก่อนวัย คนละ 17.8 ปี และก่อนตายแต่ละคนต้องเจ็บป่วย ทุกข์ทรมาน เป็นโรคเรื้อรังจนสูญเสียคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ละคนเฉลี่ยหายไปถึง 3 ปี

ทพญ.กนิษฐา กล่าวว่า โรคจากบุหรี่ที่ส่งผลเจ็บป่วยตามลำดับกลุ่มโรคมะเร็ง ทั้งมะเร็งปอด 13,047 ราย มะเร็งในอวัยวะอื่นๆ 7,815 ราย ถุงลมโป่งพอง 11,295 ราย โรคปอดเรื้อรังอื่น 2,669 ราย โรคหัวใจ 7,215 ราย โรคหลอดเลือดสมอง 6,796 ราย และโรคแทรกซ้อนต่างๆ 5,674 ราย ทั้งนี้ การเสียชีวิตของชายไทย 47,770 คน จากการสูบบุหรี่คิดเป็นร้อยละ 17 หรือ 1 ใน 6 ของจำนวนชายไทยที่เสียชีวิตจากทุกสาเหตุ 273,722 คนในปีเดียวกัน ขณะที่การเสียชีวิตของเพศหญิงจากการสูบบุหรี่ 6,742 คน คิดเป็นร้อยละ 3 ของหญิงไทยที่เสียชีวิตจากทุกสาเหตุ 212,327 คน ภายในปีเดียวกัน

พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้จัดการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า แต่ละปีอัตราคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ยังคงเพิ่มขึ้น แม้จำนวนผู้สูบลดลงอย่างช้าๆ นับแต่ปี 2547 คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 41,183 คน และปี 2552 ตายเพิ่มขึ้นเป็น 48,242 คน เนื่องจากคนที่สูบบุหรี่มีอายุเพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่ไม่เลิกสูบ จำนวนเกือบครึ่งเลือกสูบยาเส้นมวนเอง ซึ่งมีราคาถูกมาก อีกทั้งรัฐควบคุมบุหรี่หนีภาษียังขาดประสิทธิภาพ ทำให้มีบุหรี่ราคาถูกทะลักเข้ามามาก โดยเฉพาะภาคใต้ อีกทั้งประเทศต่างๆ ได้ยกเลิกหรือจำกัดจำนวนซองบุหรี่ปลอดภาษีที่ผู้เดินทางจะนำติดตัวเข้าประเทศ เช่น สิงคโปร์ไม่อนุญาตให้มีบุหรี่ปลอดภาษีเลย และฮ่องกงให้นำติดตัวได้เพียงหนึ่งซอง เพื่อให้รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้น และทำให้คนไทยสูบบุหรี่น้อยลง ช่วยลดภาระค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ รัฐบาลจึงควรเร่งยกเครื่องกลไกการควบคุมบุหรี่หนีภาษีที่ผิดกฎหมาย ด้วยการลงสัตยาบันในพิธีสารขจัดยาสูบที่ผิดกฎหมายขององค์การอนามัยโลก

9 October 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 5082

 

Preset Colors