02 149 5555 ถึง 60

 

กรมสุขภาพจิต เผยคนวัยทำงานในกทม.45% ถูก ความเครียดขโมยความสุข

กรมสุขภาพจิต เผยคนวัยทำงานในกทม.45% ถูก ความเครียดขโมยความสุข

กรมสุขภาพจิต เผยสุขภาพใจคนวัยทำงานในกทม.ร้อยละ 45 ถูก “ความเครียดขโมยความสุข”

เมื่อวันที่ 27 ก.ย.61 นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2561 กรมสุขภาพจิตได้เร่งพัฒนาสุขภาพจิตประชาชน เพื่อให้มีสุขภาพจิตดี และมีความสุข ตั้งเป้าจะขยับอันดับความสุขของคนไทยเป็นอันดับ 26 ในพ.ศ. 2579 ซึ่งหากคนไทยมีความสุขสูงขึ้น จะมีผลต่อสุขภาพกาย ประชาชนจะมีภูมิคุ้มกันโรคดีขึ้น อัตราการป่วยจากโรคเรื้อรังอาจลดลง ประสิทธิภาพการทำงานจะสูงขึ้น สังคมจะเป็นสังคมที่น่าอยู่ ประชาชนยิ้มแย้มเป็นมิตรกัน โดยบูรณาการงานสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัยเข้าสู่ระบบสุขภาพอำเภอและเครือข่ายในพื้นที่กทม.ควบคู่กับงานทางกาย เน้นหนักที่การส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ ความสุข โรคซึมเศร้า ความเครียด การฆ่าตัวตาย และเรื่องการเห็นคุณค่าในตัวเอง เพื่อสร้างพลังใจให้เข้มแข็ง จะช่วยลดปัญหาความรุนแรงต่างๆในสังคม โดยมีศูนย์สุขภาพจิต 13 เขตสุขภาพรวมทั้งกทม. เป็นแกนหลักในการประสานการดำเนินงาน โดยเฉพาะในวัยทำงานอายุ 15-59 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด มีประมาณ 39 ล้านกว่าคนทั่วประเทศ เป็นกำลังหลักสร้างเศรษฐกิจครอบครัวและประเทศชาติ มุ่งเน้นการส่งเสริมให้วัยทำงานมีความสุขในการดำเนินชีวิตทั้งในที่ทำงานและครอบครัวอย่างสมดุล

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่กทม.นั้น ซึ่งมีประชาชนอยู่อาศัยหนาแน่นประมาณ 10 ล้านคน เป็นพื้นที่ชุมชนขนาดใหญ่กว่าเขตสุขภาพอื่นๆที่มีประชากรประมาณ 5-6 ล้านคน ล่าสุดนี้ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กทม. กรมสุขภาพจิตได้สำรวจสุขภาพใจคือความสุขและความเครียดของประชาชนวัยทำงานอายุ 15-60 ปี ที่อยู่ในพื้นที่ 50 เขตในกทม. ทุกสาขาอาชีพ ในเดือนกรกฎาคม 2561-สิงหาคม 2561 ใช้กลุ่มตัวอย่าง 2,261 คน ผลสำรวจปรากฏดังนี้

ในด้านความสุขตามเกณฑ์มาตรฐานกรมสุขภาพจิตที่มีคะแนนเต็ม 45 คะแนน พบประชาชน มีความสุขในเกณฑ์ปกติเท่ากับคนทั่วไป คือมีค่าคะแนน 28-34 คะแนนร้อยละ 49.36 มีคะแนนสูงกว่าคนทั่วไปคือ 35-45 คะแนน ร้อยละ 18.53 สรุปรวมทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความสุขอยู่ในดับดีร้อยละ 67.89 ที่เหลืออีกร้อยละ 32.11 มีความสุขอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ คือต่ำกว่า 27 คะแนนลงมา เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจในระดับประเทศในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป เมื่อพ.ศ. 2558 พบว่าสัดส่วนคนกทม.มีความสุขน้อยกว่าภาพรวมประเทศที่ได้ร้อยละ 83.6 และสัดส่วนคนกทม.มีค่าความสุขในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากกว่าภาพรวมประเทศที่ได้ร้อยละ 16.4 หรือมากกว่าเกือบ 2 เท่าตัว

ส่วนด้านความเครียด ซึ่งมีคะแนนรวม 15 คะแนน ผลพบว่า มีความเครียดระดับน้อยคือคะแนนต่ำกว่า 4 คะแนนลงมาซึ่งจัดว่าเป็นระดับที่พบได้ในคนปกติมีร้อยละ 55ที่เหลืออีกร้อยละ 45 มีความเครียดผิดปกติ โดยมีความเครียดระดับปานกลางคะแนน 5-7 คะแนน ร้อยละ 29 เครียดระดับมากคะแนน 8-9 คะแนน ร้อยละ 8 และเครียดระดับมากที่สุดคะแนน 10-15 คะแนน ร้อยละ 8

ทางด้านนายแพทย์ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่13กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลสำรวจครั้งนี้ เรื่องที่ทำให้ประชาชนใน กทม. มีความเครียดในปัจจุบัน 3 อันดับแรก อันดับ 1 คือเศรษฐกิจร้อยละ 30.82 ชายหญิงใกล้เคียงกัน อันดับ 2 คือสังคมร้อยละ 20.29 และอันดับ 3 ครอบครัว ร้อยละ 14.52 สาเหตุที่ทำให้เครียด อันดับ1 คือ ปัญหาการเงิน รายได้ไม่พอร้อยละ 17.92 อันดับ 2 ความวิตกกังวลร้อยละ 14.23 อันดับ 3 ปัญหาค่าครองชีพร้อยละ 12.97 อันดับ 4 คือปัญหาครอบครัวร้อยละ 9.08 และยังพบมีความเครียดมาจากการเสพข่าวมากเกินไปและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยร้อยละ 13.21

ผลของความเครียด ทำให้กลุ่มตัวอย่าง 1 ใน 4 มีปัญหาการนอนเกิดขึ้นบ่อยครั้งและเป็นประจำ เช่นนอนไม่หลับหรือนอนมาก พบในผู้หญิงร้อยละ 26 ผู้ชายพบร้อยละ 15 นอกจากนี้ยังทำให้หงุดหงิด ว้าวุ่นใจ ร้อยละ 22.87 รู้สึกเบื่อเซ็งร้อยละ 22.56 สมาธิน้อยลงร้อยละ 16.86 มีความรู้สึกไม่อยากพบผู้คนบ่อยครั้งร้อยละ 10.97 สำหรับวิธีการจัดการความเครียดที่ประชาชนกทม.ใช้มากที่สุด คือทำใจให้สบาย/ปล่อยวางร้อยละ 20.92 รองลงมาคือชมภาพยนตร์ ชมละคร ร้อยละ 15.80 และเข้าวัดทำบุญ ใส่บาตร ไหว้พระร้อยละ8.56ออกกำลังกายร้อยละ 6.62 ท่องเที่ยวร้อยละ 5.52 หาที่ปรึกษา หาเพื่อนคุยร้อยละ 4.99

นายแพทย์ทวีศักดิ์กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2562 นี้ศูนย์สุขภาพจิตที่13จะเร่งบูรณาการการทำงานร่วมกับกทม.ทั้ง 50 เขตและหน่วยงานภาครัฐอื่นๆอย่างใกล้ชิด และพัฒนาความรู้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขในกทม.และขยายผลถึงผู้นำชุมชนต่างๆด้วย รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการข้อมูลความรู้สุขภาพจิตที่ง่ายขึ้นของประชาชนทุกกลุ่มซึ่งสภาพที่อยู่อาศัยมีหลายรูปแบบและเหมาะกับสภาพวิถีชีวิต เพื่อดูแลส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต

ทั้งนี้ กลุ่มประชาชนวัยทำงานที่เป็นกลุ่มตัวอย่างสำรวจครั้งนี้ เป็นชายร้อยละ 38 หญิงร้อยละ 62 สถานภาพโสดร้อยละ 47 สมรสร้อยละ 43 หย่าร้างร้อยละ 7 หม้ายร้อยละ 3 ส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 37 ไม่ได้เรียนร้อยละ 1.90 อาชีพมีทั้งนักเรียนนักศึกษา ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ รับจ้างทั่วไป พนักงานบริษัทเอกชน ค้าขาย ทำธุรกิจส่วนตัว เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ ว่างงาน และเกษตรกร มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 5,000 บาท ร้อยละ 16 รายได้ 5,000-25,000 บาท ร้อยละ 69 ทีรายได้ 25,001-35,000 บาทร้อยละ 10 และมากกว่า 35,000 บาทร้อยละ 6 เป็นผู้มีโรคประจำตัวร้อย 24 ไม่มีหนี้สินร้อยละ 44 มีหนี้สินที่กระทบค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่สามารถจัดการได้ร้อยละ 4

28 September 2561

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 20582

 

Preset Colors