02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้ต้องขังป่วยทางจิตสูงกว่า 3 เท่า นำร่องตรวจรักษาผ่านทางไกล 5 แห่ง

ผู้ต้องขังป่วยทางจิตสูงกว่า 3 เท่า นำร่องตรวจรักษาผ่านทางไกล 5 แห่ง

เผยแพร่: 15 มิ.ย. 2561 14:11 ปรับปรุง: 15 มิ.ย. 2561 14:33 โดย: MGR Online

กรมสุขภาพจิต เผย ผู้ต้องขังป่วยทางจิตสูง 46% สูงกว่าประชาชนทั่วไป 3 เท่า พบติดเหล้า - สารเสพติดมากสุด ตามด้วยโรคซึมเศร้า และความเสี่ยงฆ่าตัวตาย เดินหน้าพัฒนาระบบบริการ 3 เรื่อง ทั้งวิจัยรูปแบบการฟื้นฟู ตรวจรักษาทางไกล ลดการพาผู้ต้องขังมาพบจิตแพทย์ ดำเนินการแล้ว 5 แห่ง และทำหลักสูตรสุขภาพผู้ต้องขัง

วันนี้ (15 มิ.ย.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีถวายผ้าป่าสามัคคี สมทบทุนปรับปรุงอาคารบริการ และจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้บริการผู้ป่วยจิตเวชเนื่องในโอกาสครบรอบ 47 ปี สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ว่า ปัจจุบันสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์สามารถขยายการดูแลสุขภาพจิตผู้ต้องขังในเรือนจำ 142 แห่ง ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด โดยมีโรงพยาบาลจิตเวช 13 แห่งทั่วประเทศเป็นแม่ข่าย ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป สามารถป้องกันการก่อคดีซ้ำหลังพ้นโทษ และสร้างความปลอดภัยสังคม

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ข้อมูลในปี 2561 มีผู้ต้องขังเข้าถึงบริการกว่า 4,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มี 3,300 คน จากผู้ต้องขังที่มีทั่วประเทศเกือบ 3 แสนคน และได้รับการดูแลต่อเนื่อง ไม่มีปัญหากลับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลซ้ำหลังกลับไปสู่เรือนจำ เนื่องจากขาดการรักษา ซึ่งก่อนหน้านี้ พบได้มากกว่าร้อยละ 50 สำหรับทิศทางการดำเนินงานจากนี้ มีนโยบายพัฒนาฐานข้อมูลผู้ต้องขังในเรือนจำที่ป่วยทางจิตเวชระดับประเทศ เพื่อเพิ่มคุณภาพบริการเท่าเทียมกับประชาชนทุกคน ผลการวิจัยของสถาบันกัลยาณ์ฯ ในปี 2560 - 2561 ในกลุ่มผู้ต้องขังทั้งชายและหญิงจำนวน 600 คนที่อยู่ในเรือนจำ/ทัณฑสถานที่มีความมั่นคงปานกลาง - สูงสุด 10 แห่ง พบว่า มีปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชร้อยละ 46 สูงกว่าประชาชนทั่วไปถึง 3 เท่าตัว โดยผู้ชายมีปัญหาร้อยละ 47 ผู้หญิงร้อยละ35 โรคที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ติดเหล้าและสารเสพติดร้อยละ 30 รองลงมาโรคซึมเศร้าร้อยละ 16 และความเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 16

“ผู้ต้องขังเกือบ 1 ใน 4 มีโรคทางจิตเวชร่วมด้วย 2 โรคขึ้นไป เช่น ใช้สารเสพติดและป่วยเป็นโรคจิตเภท เป็นต้น กรมสุขภาพจิตจะร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ เน้นการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตผู้ต้องขังรายใหม่ทุกคน เพื่อแยกกลุ่มการดูแลอย่างเหมาะสม และในปีนี้ได้ให้สถาบันกัลยาณ์ฯ ทดลองระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านกาย จิต สังคมแก่ผู้ต้องขังที่ป่วยทางจิตเป็นครั้งแรก เพราะหัวใจของการรักษาผู้ป่วยจิตเวชไม่ได้อยู่ที่ยาหรือการรักษาด้วยเครื่องมืออย่างเดียว แต่อยู่ที่การฟื้นฟูสมรรถนะด้านต่างๆที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเพื่อคืนความเป็นมนุษย์ให้ผู้ป่วย ให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้” น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว

นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า ในการพัฒนาระบบบริการผู้ต้องขังในปี 2561 - 2562 เน้น 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. การวิจัยรูปแบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวชและผู้ต้องขังสูงอายุ โดยสถาบันฯได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาโปรแกรมการจัดกิจกรรมฟื้นฟู ซึ่งเป็นนวัตกรรมบริการ โดยจะเน้นความสอดคล้องตามบริบทของเรือนจำ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย คาดว่า จะนำร่องที่เรือนจำพิเศษธนบุรี หากแล้วเสร็จจะสามารถใช้เป็นโปรแกรมต้นแบบระดับประเทศขยายผลใช้ในเรือนจำทั่วประเทศได้ 2. การจัดระบบการตรวจรักษาผู้ต้องขังด้วยการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) โดยจิตแพทย์เชี่ยวชาญกับสถานพยาบาลกรมราชทัณฑ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ไม่มีจิตแพทย์ ซึ่งมีผลดี สามารถดูแลผู้ต้องขังที่เรือนจำได้เลย ไม่ต้องพาไปที่โรงพยาบาล ซึ่งต่อรายจะต้องเสียค่าใช้จ่ายการดูแล และลดความเสี่ยงการหลบหนี ขณะนี้สามารถดำเนินการในโรงพยาบาลจิตเวช 5 แห่ง ได้แก่ สถาบันกัลยาณ์ฯ รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ รพ.สวนปรุง รพ.พระศรีมหาโพธิ์ และ รพ.จิตเวชนครสวรรค์ จะขยายเพิ่มที่เหลืออีก 8 แห่ง

และ 3. ร่วมมือกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทำหลักสูตรการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ เพื่อใช้เป็นคู่มือสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่พยาบาลในเรือนจำและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำเรือนนอน (อสน.) ในเบื้องต้นเน้น 5 โรค ได้แก่ โรคจิต โรคซึมเศร้า ยาเสพติด ภาวการณ์ฆ่าตัวตาย และภาวการณ์ถอนสุรา เพื่อดำเนินการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตผู้ต้องรายใหม่ทุกคน พร้อมจัดระบบขึ้นทะเบียนการดูแลตั้งแต่ต้น และมีระบบการส่งต่อในพื้นที่หลังพ้นโทษไปแล้วอย่างต่อเนื่อง

19 June 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By STY_Lib

Views, 1556

 

Preset Colors