02 149 5555 ถึง 60

 

ดูแล “ผู้เฒ่า” ห่างไกล “ซึมเศร้า” ไม่ล้ม ไม่ลืม

ดูแล “ผู้เฒ่า” ห่างไกล “ซึมเศร้า” ไม่ล้ม ไม่ลืม

โดย...พญ.กานติ์ชนิต ผลประไพ จิตแพทย์ ประจำ Mind Center รพ.พระรามเก้า

การที่หลายคนต้องประสบกับภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะในช่วงวัยสูงอายุ นับว่าเป็นเรื่องที่หนักใจของใครหลายคน ทั้งญาติ ผู้ใกล้ชิด และตัวผู้สูงอายุเอง ดังนั้น การเรียนรู้และทำความเข้าใจกับภาวะซึมเศร้านี้ ก็จะช่วยให้สามารถเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ สังคมไทยในปัจจุบัน นับว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรการเกิดมีจำนวนลดลง และเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์มีการพัฒนาที่มากขึ้น ทำให้สังคมผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย และจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า ร้อยละ 95 ของผู้สูงอายุ มีความเจ็บป่วยด้วยโรคและปัญหาสุขภาพ และมีเพียงร้อยละ 5 ที่มีสุขภาพแข็งแรง

ผู้สูงอายุ 1 ใน 2 คน อ้วน และเป็นโรคอ้วน และมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์เพียงร้อยละ 46 ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว จำนวน 6 แสนคน หรือร้อยละ 7.7 อยู่โดยไม่มีลูกหลายอยู่ด้วย จำนวน 1.3 ล้านคน หรือร้อยละ 16

ในปี 2553 เป็นต้นมา องค์การโรคอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศ (Alzheimer’s Disease International : ADI) ได้ประเมินว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมทั่วโลกมากกว่า 35 ล้านคน อยู่ในเอเชียอาคเนย์ 2.4 ล้านคน ส่วนในประเทศไทยจากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557 โดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า มีผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไป มีภาวะสมองเสื่อม ร้อยละ 8.1 โดยพบในผู้สูงอายุชายร้อยละ 6.8 ผู้สูงอายุหญิงร้อยละ 9.2 หรือเท่ากับผู้สูงอายุวัยเกิน 60 ปี ทุกๆ 12 คน จะพบเป็นโรคสมองเสื่อม 1 คน

ภาวะการซึมเศร้า เป็นภาวะของการเจ็บป่วยทางจิตใจชนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้รู้สึกไม่มีความสุข ซึมเศร้า จิตใจหม่นหมอง หมดความกระตือรือร้น เบื่อหน่าย แยกตัวเอง ชอบอยู่เงียบๆ คนเดียว ท้อแท้ บางครั้งมีความรู้สึกสิ้นหวัง มองชีวิตไม่มีคุณค่า มองตัวเองไร้ค่าและยังเป็นภาระต่อคนอื่น นอนไม่หลับ ไม่อยากทานอาหาร น้ำหนักลด

หากมีอาการมาก จะมีความรู้สึกเบื่อชีวิต คิดอยากตาย - ฆ่าตัวตาย รวมถึงมีพฤติกรรมทำร้ายตนเองและมักเริ่มพบได้บ่อยในสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากเป็นวัยที่มีการสูญเสียหลายด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม เป็นวัยที่ต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิตอย่างมาก

มีรายงานพบว่า ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จะเคยมีประสบการณ์ของการมีภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน จึงทำให้หลายหน่วยงานรวมถึงโรงพยาบาลพระรามเก้าได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยเน้นให้ผู้สูงอายุหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อร่างกายที่แข็งแรง ไม่หกล้ม โดยให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย

ให้ผู้สูงอายุฝึกทักษะทางสมอง ส่งเสริมสุขภาพจิตและอารมณ์ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ รณรงค์และส่งเสริมพฤติกรรมการไม่สูบบุหรี่ การให้ผู้สูงอายุนอนหลับอย่างเพียงพอและการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ ครบทั้ง 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม เน้นผัก ผลไม้ เลือกอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง เช่น ปลาทะเล เนื่องจากมีกรดโอเมก้า 3 สูง ช่วยบำรุงประสาท สายตา และสมอง ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพร่างกายที่ดี

ทั้งหมดนี้ ก็นับว่าเป็นวิธีการป้องกันเบื้องต้นที่จะสามารถทำให้ผู้สูงอายุห่างไกลจากโรคซึมเศร้า ลดอาการหลงลืม มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ในช่วงบั้นปลายชีวิตอย่างมีความสุข

3 April 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By sty_lib

Views, 2454

 

Preset Colors