02 149 5555 ถึง 60

 

เช็กด่วนโรคซึมเศร้า มี 6 ข้อขึ้นไปสุดเสี่ยง

เช็กด่วนโรคซึมเศร้า มี 6 ข้อขึ้นไปสุดเสี่ยง

โรคซึมเศร้า นับเป็นประเด็น สำคัญระดับโลก จากรายงานการศึกษาวิจัยของธนาคารโลกร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า ในปี 2020โรคซึมเศร้า...จะเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกอันดับที่ 2 รองลงมาจากโรคหัวใจหลอดเลือด ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับ ประเทศไทย...โรคนี้เป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าจับตาเป็นอันดับ 4 เป็นเรื่องที่สังคมต้องให้ความสำคัญ เพราะมีผลกระทบอย่างมาก

สำรวจตัวท่านเอง เช็กด่วนๆว่ามีความเสี่ยงหรือไม่? ด้วยแบบประเมินจากกรมสุขภาพจิตว่า...ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ให้ประเมินอาการหรือความคิดเห็นและความรู้สึกของท่านว่าอยู่ในระดับใด

1.รู้สึกจิตใจหม่นหมองหรือไม่ (เกือบตลอดทั้งวัน) 2.รู้สึกเป็นทุกข์จนอยากร้องไห้ 3.รู้สึกหมดอาลัยตายอยาก 4.รู้สึกไม่มีความสุข หมดสนุกกับสิ่งที่เคยชอบและเคยทำ 5.รู้สึกผิดหวังในตนเองและโทษสิ่งที่เกิดขึ้น 6.รู้สึกสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง 7.รู้สึกอยากอยู่คนเดียวไม่อยากสุงสิงกับใคร 8.รู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า

9.คิดอะไรไม่ออก 10.หลงลืมง่าย 11.คิดอะไรได้ช้ากว่าปกติ 12.ทำอะไรอืดอาด เชื่องช้ากว่าปกติ 13.รู้สึกอ่อนเพลียง่ายเหมือนไม่มีแรง 14.รู้สึกเบื่ออาหาร กินได้น้อยกว่าเดิม 15.นอนหลับๆตื่นๆหลับไม่สนิท

ถ้าตอบว่า มี ตั้งแต่ 6 ข้อขึ้นไป หมายถึง มีภาวะซึมเศร้า

ควรได้รับบริการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือพบแพทย์เพื่อการบำบัดรักษ

คู่มือโรคซึมเศร้า กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคนี้เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงชีวิตคนเราเหมือนกับโรคทางกาย อื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

ข้อสำคัญมีว่า... การเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เป็นนั้นเป็นคนอ่อนแอ ล้มเหลว หรือไม่มีความสามารถ แต่เป็นเพียงการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง เกิดได้ทั้งมีสาเหตุ เช่น การสูญเสีย การหย่าร้าง ความผิดหวัง และเกิดได้เองโดยไม่มีสาเหตุใดๆ

ปัจจุบัน โรคซึมเศร้า สามารถรักษาหายได้ด้วยการใช้ยา การรักษาทางจิตใจ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน

ว่ากันถึงสาเหตุ...หากมีประวัติการเจ็บป่วยโรคนี้ในญาติของท่านก็เพิ่มการป่วยโรคนี้กับสมาชิกอื่นในบ้าน แต่ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นกันทุกคน ปัจจัยที่กระตุ้นให้คนที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้มีโอกาสเกิดอาการคือ ความเครียด แต่ทั้งนี้คนที่ไม่มีญาติเคยป่วยก็อาจเกิดเป็นโรคนี้ได้

มักพบว่า...ผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของระดับสารเคมีที่เซลล์สมองสร้างขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของอารมณ์ สภาพจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดูก็เป็นปัจจัยที่เสี่ยงอีกประการหนึ่งต่อการเกิดโรคซึมเศร้าเช่นกัน

คนที่ขาดความภูมิใจในตนเอง มองตนเองและโลกที่เขาอยู่ในแง่ลบตลอดเวลา หรือเครียดง่าย เมื่อเจอกับมรสุมชีวิต ล้วนทำให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสป่วยง่ายขึ้น นอกจากนี้หากชีวิตพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ ต้องเจ็บป่วยเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ปรารถนาก็อาจกระตุ้นให้โรคซึมเศร้ากำเริบได้

พุ่งเป้าไปที่สาเหตุที่จะกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้าที่พบบ่อยก็คือ...การมีทั้งความเสี่ยงทางพันธุกรรม ทางสภาพจิตใจ ประจวบกับการเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย ร่วมกันทั้ง 3 ปัจจัย

ข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า มีผู้ที่ฆ่าตัวตายมากถึงร้อยละ 60 ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า...โดยคนที่เป็นโรคนี้เมื่อประสบกับความผิดหวังหรือปัญหาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว ความรัก หรือการศึกษา ผู้ป่วยจะเกิดความคิดฆ่าตัวตายได้ง่ายกว่าคนปกติถึง 3 เท่า

จากการสำรวจ...ประชากรไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึงร้อยละ 5 หรือกว่า 3 ล้านคน ยังไม่รวมถึงคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย และโรคนี้ยังถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูกอีกด้วย</p>

ข้อมูลทางวิชาการรู้ให้ลึกกันต่อไปอีกว่า โรคซึมเศร้า...เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองชื่อเซโรโทนิน มีปริมาณลดลง...ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกท้อแท้ หงอยเหงา เบื่อหน่าย ไม่สนุกสนานกับชีวิต นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นกลางดึก ฝันร้ายบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบให้ความสามารถในการทำงานลดลง

แม้ว่าโรคนี้จะถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วย จะต้องอยากฆ่าตัวตายเสมอไป ยังขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและปัจจัยกระตุ้นด้วย

ลักษณะคนที่ป่วย มักจะชอบแยกตัวอยู่คนเดียว ย้ำคิดย้ำทำ เชื่องช้า ซึม เก็บตัว ชอบพูดเปรยว่า...ถ้าไม่มีเขาอะไรคงจะดีและพูดสั่งเสียอยู่เรื่อยๆ

ผู้ป่วยจะมีอาการหนักราว 2-3 เดือน ...ถือเป็นช่วงอันตรายที่สุด เพราะมีโอกาสคิดสั้นฆ่าตัวตายสูงมาก หากมีเรื่องกระทบจิตใจเพียงนิดเดียว แต่ถ้าพ้นช่วงนี้ไปได้ก็จะกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งอาการของโรคจะกำเริบเมื่อใดไม่มีใครรู้ล่วงหน้า บางคน 1-2 ปี...จึงจะออกอาการ บางคนเพียง 6 เดือน

แต่ถ้ารู้ว่าตัวเองป่วยก็สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการเข้าพบจิตแพทย์...กินยาตามที่แพทย์สั่ง

โรคซึมเศร้ากับปัญหาฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่น ข้อมูลจากการศึกษาวิจัย ปัญหาฆ่าตัวตายในนักเรียนมัธยมปลายปี พ.ศ.2547 จากการวิจัยเรื่องความคิดอยากฆ่าตัวตายของนักเรียนระดับมัธยม ปลายและระดับ ปวช.ทั่ว กทม พบว่า มีเด็กนักเรียน 1 ใน 10 คน...มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย โดยเป็นเด็กระดับ ปวช.มากถึงร้อยละ 15.7 มากกว่านักเรียนระดับมัธยมปลายกว่าเท่าตัว

สะท้อนข้อมูลให้ได้รู้กันอีกว่าในจำนวนนักเรียนที่คิดฆ่าตัวตายมีสาเหตุจาก 3 ปัจจัยหลักคือ โรคซึมเศร้าเกิดจากกรรมพันธุ์และความเครียดจากสภาพแวดล้อม การโดนทารุณกรรมในวัยเด็ก ซึ่งส่งผลต่อจิตใจ...พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง

จะเห็นได้ว่า เด็กกลุ่มนี้ จะชอบความท้าทาย กิจกรรมเสี่ยงต่อการเจ็บตัว อารมณ์รุนแรง ควบคุมอารมณ์ยาก และการใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะยาเค และ สารระเหย

จากการสอบถามเชิงลึกกับกลุ่มนักเรียนทั้ง 2 กลุ่ม พบว่า กลุ่มนักเรียนอาชีวะมีปัญหาทางบ้านและเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มมัธยม ส่วนหนึ่งยอมรับด้วยว่าเคยถูกทารุณกรรมในวัยเด็กมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการถูกทุบตีอย่างไม่มีเหตุผล หรือการทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง

ทั้งนี้...กลุ่มเด็กที่มีพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดยังเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด เพราะมีอัตราการทำร้ายตัวเองสูง อารมณ์รุนแรง ควบคุมไม่ค่อยได้ และมักไม่คำนึงถึงเหตุผลที่ตามมาเมื่อลงมือทำไปแล้ว

สำหรับ กลุ่มเด็กที่ต้องเฝ้าจับตามองเป็นพิเศษ คือเด็กที่มีอาการซึม ชอบเก็บตัว ร้องไห้ง่าย เบื่ออาหาร การเรียนตก มีประวัติทำร้ายตัวเอง และใช้ยาเสพติด เพราะเด็กที่มีพฤติกรรมเหล่านี้บ่งบอกถึงอาการของโรคซึมเศร้า และมีปัญหาในชีวิต โอกาสที่จะตัดสินใจทำเรื่องรุนแรงต่อร่างกายเป็นไปได้สูงกว่าเด็กปกติ อาจารย์...ผู้ปกครองควรเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด</p>

<p>ประเด็นสำคัญมีว่า โรคซึมเศร้า...เหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่มักถูกมองข้าม คนไม่น้อยคิดว่าจะพบแพทย์ก็ต่อเมื่อมีอาการทางร่างกาย ทั้งที่ความเป็นจริงนั้น ความเปลี่ยนแปลงทาง อารมณ์ และ จิตใจ...เป็นอาการที่สำคัญของโรคนี้.

6 March 2561

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By sty_lib

Views, 9393

 

Preset Colors