02 149 5555 ถึง 60

 

สธ.ย้ำ “ล่าสัตว์ป่า” ผิดศีล เสี่ยงรับเชื้อพยาธิ-แบคทีเรีย ติดโรคสัตว์สู่คนถึงขั้นตาย

สธ.ย้ำ “ล่าสัตว์ป่า” ผิดศีล เสี่ยงรับเชื้อพยาธิ-แบคทีเรีย ติดโรคสัตว์สู่คนถึงขั้นตาย

สธ.ย้ำล่า “สัตว์ป่า” ผิดศีล ไม่ควรทำ พ่วงเสี่ยงรับพยาธิ-แบคทีเรียต่างๆ ยิ่ง “สัตว์นักล่า” มักกินเหยื่อดิบๆ เสี่ยงรับพยาธิสูง คนไปล่าสัตว์ต่อก็เพิ่มโอกาสรับเชื้อ ชี้หากชอนไชขึ้นตาทำตาบอด เข้าสมองเป็นเป็นไข้สมองอักเสบ รุนแรงถึงชีวิต

วันนี้ (7 ก.พ.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีข่าวการจับกุมนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ในการล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี ว่าการล่าสัตว์ป่าเพื่อนำมารับประทานนั้น ขอย้ำว่าการล่าสัตว์ป่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรกระทำ และไม่ควรรับประทานสัตว์ป่าด้วย ถือว่าผิดศีล ผิดหลักพระพุทธศาสนา ควรมีการรณรงค์ไม่ให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นในบ้านเรา ทั้งนี้ การรับประทานสัตว์ป่ายิ่งเสี่ยงทำให้เกิดการติดโรคด้วย เนื่องจากสัตว์กินเนื้อเหล่านี้ เราไม่ทราบเลยว่าไปกินอะไรมาบ้าง ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดพยาธิหรือแบคทีเรียต่างๆ มาสู่คนได้

นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า การติดพยาธิหรือเชื้อแบคทีเรียนั้น ไม่ใช่แค่การติดจากการรับประทานเท่านั้น ยังอาจติดโดยไม่รู้ตัวผ่านแผลในร่างกายด้วย รวมไปถึงโรคจากสัตว์สู่คนต่างๆ อย่างเช่น หมูป่า ก็อาจติดเชื้อโรคไข้หูดับได้ เป็นต้น สำหรับความเชื่อว่าว่าการกินสัตว์ป่ามีผลทางใจว่าตัวเองเก่งนั้น อยากบอกว่าไม่ได้เก่งเลย และไม่มีประโยชน์ใดๆ อย่าไปทำร้ายชีวิต เพราะเขาก็รักชีวิต และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธรรมชาติสมบูรณ์

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดในการรับประทานเนื้อสัตว์ป่า ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดใดก็ตาม ยิ่งในเสือดำเป็นสัตว์นักล่า จะล่าเหยื่อและกินสดๆ ทันที แน่นอนว่าจะมีการรับเชื้อพวกพยาธิเข้าไปด้วย และเมื่อคนไปออกล่าสัตว์นักล่าก็จะมีความเสี่ยงรับเชื้อเหล่านี้ ในภาพรวมแล้วไม่ว่าจะกินสัตว์ป่าประเภทใดจะเสี่ยงรับเชื้อหลักๆ คือ พยาธิ ทริคิเนลโลสิส (Trichinellosis) หากรับประทานจะทำให้เกิดการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนได้ โดยพยาธิจะไชไปตามร่างกาย บ้างก็ขึ้นตา ทำตาบอด บ้างขึ้นสมอง เป็นไข้สมองอักเสบ รุนแรงถึงเสียชีวิต

“นอกจากนี้ อย่างในหมู หรือหมูป่าที่พบเห็นก็จะเป็นเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) หรือโรคหูดับ เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนอีกชนิดก็จะมีการติดเชื้ออุจจาระร่วง และหูดับ ปวดศีรษะ และในเนื้อวัว หรือสัตว์เท้ากีบก็จะพบเชื้อแอนแทรกซ์ อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีที่สุดอย่าไปรับประทาน เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงในการนำโรคจากสัตว์สู่คนได้ ถึงแม้จะทำให้สุก แต่ระหว่างการปรุงอาหารก็อาจติดเชื้อหากมีบาดแผล หรือไม่ระวัง มีความเสี่ยงหมด” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

8 February 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By sty_lib

Views, 481

 

Preset Colors