02 149 5555 ถึง 60

 

‘โรงเรียนผู้สูงอายุ’ เสริมพลังวัยเกษียณพึ่งตนเอง

‘โรงเรียนผู้สูงอายุ’ เสริมพลังวัยเกษียณพึ่งตนเอง

วันศุกร์ ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561, 06.00 น.

ไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกไกลกันต่อไปแล้วสำหรับ “สังคมสูงวัย” (Aging Society) เพราะหากนับจากปีนี้(2561) ก็จะเหลืออีกเพียง 3 ปี นั่นคือ “ในปี 2564” โครงสร้างประชากรของไทยจะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยข้อมูลจาก “สภาพัฒน์” สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ในปีดังกล่าวซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564) “สังคมไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 20 ของประชากรไทยทั้งหมด” สวนทางกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลงอย่างต่อเนื่อง

ในมุมหนึ่งขณะที่ภาครัฐมุ่งเน้นการยกระดับประชากรวัยเด็กและวัยทำงานให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะที่ถูกพูดถึงกันมากคือ “ส่งเสริมให้มีบุตรในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พร้อม” เพื่อรักษาโครงสร้างประชากรให้สมดุล จนมีการตั้งคำถามกันว่า “จะทำได้จริงหรือ?” เพราะคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ต้องเผชิญกับภาวะกดดันทางเศรษฐกิจและสังคม “รายจ่ายมากขึ้น ความคาดหวังและการแข่งขันสูงขึ้น” มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ อีกทั้งยัง “รักอิสระ” แต่อีกมุมหนึ่ง “คนวัยเกษียณ” ที่ยังต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกหลายปีนั้นย่อมไม่อาจถูกละเลย

นำมาซึ่งการจัดตั้ง “โรงเรียนผู้สูงอายุ” ที่ถูกพูดถึงกันมากในระยะหลังๆ โดย กรมกิจการผู้สูงอายุ อธิบายไว้ว่า เป็นการจัดการศึกษา อีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องการให้ผู้สูงอายุมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต เกิดจากแนวคิดที่ตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญ และพลังของผู้สูงอายุ โดยอาศัยบทบาทของ “ท้องถิ่น” หรือชุมชนระดับพื้นที่ในการเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนผู้สูงอายุและกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ” ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ว่า โรงเรียนผู้สูงอายุซึ่งดำเนินการในพื้นที่มากกว่า 1,100 แห่งทั่วประเทศ เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาศักยภาพแกนนำผู้สูงอายุ และชมรมผู้สูงอายุให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีพื้นที่ทำกิจกรรม เกิดการพึ่งพาตนเอง สามารถพัฒนาศักยภาพและเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพได้ ที่สำคัญคือ “ลดภาวะการกลายเป็นผู้สูงอายุที่ติดบ้าน-ติดเตียง” รวมถึงลดภาระการดูแลผู้สูงอายุของครอบครัว ทั้งนี้รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน ตั้งเป้าว่าจะต้องมีโรงเรียนผู้สูงอายุทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 2,600 แห่งให้ได้ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า

เหตุใดโรงเรียนผู้สูงอายุจึงมีความสำคัญ?ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 พบว่า “ร้อยละ 87.4 ของคนไทยช่วงอายุ 60-69 ปี สามารถดูแลตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น” ข้อค้นพบดังกล่าวถือเป็น “โอกาส” เพราะคนเหล่านี้คือ “กำลังสำคัญ” ของสังคมไทย ยังสามารถพัฒนาศักยภาพและเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพได้

“สสส. สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในโรงเรียนผู้สูงอายุ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ลดการพึ่งพิง เสริมการทำงานของภาครัฐ ภายใต้หลักสูตรการเรียนรู้สำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุในประเด็นที่จำเป็นต้องรู้ เช่น การดูแลสุขภาพร่างกาย สิทธิประโยชน์ต่างๆ ของผู้สูงอายุ ประเด็นที่ควรรู้ เช่น การใช้เทคโนโลยี และประเด็นที่อยากรู้ เช่น กิจกรรมนันทนาการต่างๆ ดนตรี เป็นต้น ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นพลังของสังคม และเกิดการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตอย่างแท้จริง” ผู้จัดการ สสส. กล่าว

ภายในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ ยังมี “เรื่องเล่า”จากคนทำงานด้านผู้สูงอายุในท้องถิ่นต่างๆ อาทิ ขวัญนรินทร์โคกทอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดอนชมพู อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในช่วงแรกๆ ที่ริเริ่มโครงการโรงเรียนผู้สูงอายุ “ไม่มีใครสนใจ” กระทั่งเมื่อมีการชวนให้มาตรวจสุขภาพ แล้วพบว่าผู้สูงวัยจำนวนมากในพื้นที่มีความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

ขวัญนรินทร์ เล่าต่อไปว่า ภายหลังการตรวจสุขภาพครั้งนั้น ทำให้ผู้สูงวัยเข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ และพบว่าคุณภาพชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อาทิ สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ ซึ่งทำให้ลูกหลาน “เบาใจ” มีความสุขเพราะเห็นพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ของตนสุขภาพดีขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุมีความรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลตนเอง

จากชนบทสู่เมือง ร.ท.(หญิง)ทศพร ศรีบริกิจ (ทอ.) พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานพยาบาลและบริหารทั่วไป ศูนย์บริการสาธารณสุข 35 หัวหมาก ย่านบางกะปิ กรุงเทพฯ กล่าวเช่นกันว่า ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมในศูนย์การเรียนรู้ผู้สูงอายุ ศูนย์บริการสาธารณสุข 35 มาจากชมรมผู้สูงอายุต่างๆ ส่วนใหญ่ให้ความสนใจความรู้ด้านการเกษตร รองลงมาเป็นการใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร โดยมุ่งหมายจะนำความรู้ที่ได้นี้กลับไปถ่ายทอดให้เพื่อนๆ ในชมรมของตน

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวถึงการศึกษาวิจัย เรื่อง “การถอดบทเรียนตัวอย่างที่ดีของโรงเรียนและชมรมผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมถ่ายทอดความรู้” โดย ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร และคณะ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุให้เป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพหรือมีภาวะพฤฒพลัง (Active Ageing) เพื่อเสริมสร้างการเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมสูงอายุของประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาครอบคลุมบริบททั้ง กาย จิต เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ค่านิยม ปัญญา และความสุข

“ปัจจุบันมีโรงเรียนผู้สูงอายุจำนวนมากทั่วประเทศ ที่มีความหลากหลายทั้งสถานที่ รูปแบบ และวิธีการ ขึ้นอยู่กับบริบทพื้นที่และความต้องการของผู้สูงอายุในแต่ละแห่ง โดยเริ่มจากกระบวนการศึกษา ถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากโรงเรียนผู้สูงอายุที่มีการดำเนินงานประสบความสำเร็จ และนำมาต่อยอดดำเนินงาน เพื่อพัฒนาเป็นกรอบการดำเนินงานสำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุที่เหมาะสมต่อไป” พญ.ลัดดา กล่าวในท้ายที่สุด

ทั้งนี้โรงเรียนผู้สูงอายุหลายแห่งตั้งขึ้นโดยใช้อาคารเรียนเก่าของโรงเรียนที่เลิกกิจการหรือตั้งอยู่ในชมรมผู้สูงอายุ ภายในวัด บางแห่งใช้บ้านของผู้ริเริ่มก่อตั้งเป็นสถานที่ดำเนินการการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุในระยะแรก อาจเป็นเพียงการรวมกลุ่มพบปะพูดคุยกัน แล้วจึงค่อยๆ มีรูปแบบชัดเจนขึ้น มีกิจกรรมที่หลากหลายตามความต้องการของผู้สูงอายุ

หรืออาจเป็นการขยายกิจกรรมจากที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว เช่น ศูนย์บริการทางสังคม แบบมีส่วนร่วม (ศาลาสร้างสุข) ศูนย์สามวัย ธนาคารความดี เป็นต้น โรงเรียนผู้สูงอายุสามารถมีรูปแบบและกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ ความต้องการของผู้สูงอายุ การจัดกิจกรรมของโรงเรียนผู้สูงอายุ จะกำหนดตารางกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์ไว้ชัดเจน ระยะเวลาเปิดเรียนอาจเป็นตลอดปีหรือเปิดเป็นช่วงเวลาตามหลักสูตรที่จัดอบรม ส่วนใหญ่จะจัดกิจกรรมสัปดาห์ละ 1 วัน

ด้วยเป้าหมาย “ชราไปอย่างมีคุณภาพ”!!!

ด้วยหลักคิดที่ว่า “ผู้สูงอายุมีคุณค่าและมีศักยภาพ ควรไดรับการส่งเสริม สนับสนุนให้มีส่วนร่วมทำประโยชนให้สังคม และส่งเสริมการเรียนรูให้ผู้สูงอายุ” นำมาสู่แนวคิดการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุขึ้นในหลายพื้นที่ กรมกิจการผู้สูงอายุ จึงจัดทำ “คู่มือโรงเรียนผู้สูงอายุ” ไว้เป็นแนวทางสำหรับการจัดการเรียนการสอน ที่ผู้สูงอายุสามารถนำไปใช้ไดจริงในชีวิตปัจจุบัน อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่ายหรือชุมชน ผู้สนใจสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ http://www.dop.go.th/th/know/5/24 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

2 February 2561

ที่มา แนวหน้า

Posted By STY_Lib

Views, 1175

 

Preset Colors