02 149 5555 ถึง 60

 

ปล่อยให้ลูกอยู่เฉยๆ ช่วยพัฒนาสมองได้นะ

ปล่อยให้ลูกอยู่เฉยๆ ช่วยพัฒนาสมองได้นะ / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่: 31 ม.ค. 2561 11:37:00 โดย: สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ท่ามกลางสภาพสังคมในปัจจุบันที่เน้นเรื่องความเร็ว หรือ Speed แทบทุกเรื่อง ประเภทยิ่งเร็วยิ่งดี ยิ่งเร็วยิ่งเก่ง ยิ่งเร็วยิ่งเจ๋ง กลายเป็นค่านิยมให้กับเด็กรุ่นใหม่ไปซะแล้ว

คนเป็นพ่อแม่ที่ต้องมีชีวิตเร่งรีบตั้งแต่ตื่นนอนในแต่ละวันจนกลายเป็นกิจวัตรหรือนิสัยติดตัว โดยเฉพาะผู้คนในเมือง และเมื่อพ่อแม่มีลูกก็ติดนิสัยอยากให้ลูกเร่งรีบตามไปด้วย

เรียกว่าพอเสพติดความเร็วมากเข้า ก็เลยมีความคิดอยากให้ลูกเดินได้เร็ว พูดได้เร็ว มีพัฒนาการทุกอย่างก้าวหน้าเร็ว พอเข้าสู่โรงเรียน ก็อยากให้ลูกเรียนเร็ว โตเร็ว ทำงานเร็ว ฯลฯ

และด้วยวงจรของความเร็วก็เลยต้องทำให้ผู้คนต้องคิดเร็ว ทำเร็ว ใจเร็ว ได้เร็ว เปลี่ยนเร็ว เบื่อเร็ว และอีกหลายๆ เร็ว เรียกว่าเร่งรีบ เร่งเร็วไปซะทุกเรื่อง

โดยหารู้ไม่ว่า แท้ที่จริงหลายปัญหาที่เกิดขึ้น ก็เป็นเพราะความเร็ว !

ยกตัวอย่าง เวลาขับรถก็เร่งรีบอยากให้ถึงที่หมายปลายทางโดยเร็ว ใครขับรถช้าก็หงุดหงิด ใครทำอะไรชักช้าก็รำคาญ ยิ่งถ้าเป็นลูกหลานของตัวเองทำอะไรชักช้า ก็มักต่อว่าในทำนอง แล้วจะทำมาหากินอะไรได้ทัน หรือก็ประมาณว่าไม่ทันคน

บางทีก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเรื่องคนไทยเข้าคิวไม่เป็น แท้จริงอาจไม่ใช่เพราะไม่เคารพในสิทธิของคนอื่นเท่านั้น แต่เป็นเพราะใจร้อน เห็นคิวยาวก็เริ่มทนไม่ไหว ไม่พอใจ ความอดทนต่ำ รอคอยไม่ได้ ก็เลยอยากแซงคนอื่น เพราะสนใจแต่ว่าตัวเองเร่งรีบ

และความเร่งรีบไปซะทุกเรื่องมิใช่หรือ ที่นำไปสู่การเร่งการบริโภคในทุกเรื่อง กระบวนการผลิตก็เร่ง ผู้บริโภคก็ถูกเร่ง และท้ายสุดก็เป็นการเร่งทำลายสิ่งแวดล้อมไปด้วย

ยิ่งโลกยุคปัจจุบันเป็นโลกแห่งเทคโนโลยี ยิ่งทำให้ผู้คนเน้นเรื่องความเร็วในทุกมิติของวิถีชีวิต เพราะผู้คนก็ถูกปลูกฝังให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยความรวดเร็วเพียงใช้ปลายนิ้วมือในเวลาไม่กี่นาทีใช่หรือไม่ !!

และด้วยเจ้าความเร็วและเร่งรีบที่แหละที่ทำให้พ่อแม่ยุคนี้ที่มีลูก ก็เร่งใส่อะไรต่อมิอะไรมากมายให้กับลูก เพราะอยากให้ลูกเก่ง เริ่มจากอยากให้ลูกเรียนเก่ง ก็ต้องเริ่มให้ลูกเรียนได้เร็ว พาลูกไปเรียนกวดวิชา จะได้เรียนล่วงหน้ากว่าเด็กคนอื่น แถมยังมีกิจกรรมอีกสารพัดที่อยากให้ลูกเรียน ทั้งกิจกรรมดนตรี กีฬา ร้องเพลง และอีกสารพัด เรียกว่าลูกแทบไม่มีวันหยุดเลย

เลิกเรียนวันปกติก็ไปเรียนพิเศษต่อช่วงเย็น พอวันเสาร์อาทิตย์ก็มีกิจกรรมแน่นเอี้ยดทั้งวัน

เรียกว่ากิจกรรมเพียบ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นกิจกรรมที่พ่อแม่สรรหามาให้ทั้งนั้น และมักเป็นกิจกรรมประเภทที่มีผู้คนจองกันล่วงหน้า เพื่อให้ลูกตัวเองได้เรียน พ่อแม่นี่แหละคือผู้ที่พยายามเสาะแสวงหาสารพัดกิจกรรมใครว่าดี ใครว่าพัฒนาสมอง ก็ต้องส่งลูกไปเรียน

เรียกว่าเด็กยุคนี้แทบหาเวลาว่างไม่ได้เลย

ลองพินิจพิเคราะห์ดูจะพบว่าแท้จริงแล้ว สิ่งที่เด็กยุคนี้ขาดแคลนมากขึ้นทุกขณะ คือ “ความนิ่ง” หรือ “ความสงบ” หรือ “การมีสมาธิ” หรือ “การได้อยู่กับตัวเอง”

ยังจำได้เมื่อครั้งตัวเองเป็นเด็กวัยเรียน ในหนึ่งวันต้องเรียนประมาณ 7-8 วิชา ในระหว่างคาบเมื่อเรียนไป 2 วิชา ยังมีช่วงเวลาพักเบรค 15 นาที ทั้งในช่วงเช้าและช่วงบ่าย หรือแม้แต่เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน เมื่อต้องมีการประชุม ก็ต้องมีพักเบรคทั้งเช้าและบ่าย

แต่เด็กยุคนี้แทบจะไม่มีเวลาพักเลย

พ่อแม่อาจต้องลองถามตัวเองดูว่า เราเคยปล่อยให้ลูกอยู่เฉยๆบ้างหรือเปล่า ?

อีชีฮยอง แพทย์จิตเวชชาวเกาหลี เคยแนะนำไว้ในหนังสือ “สมองหายล้า ชีวิตก็หายเหนื่อย” ไว้ว่า “แค่อยู่กับคนอื่น สมองก็ล้าได้ ไม่เหมือนเวลาเราอยู่คนเดียว ให้กลิ้งไปกลิ้งมาได้ตามใจ ต่อให้อยู่กับเพื่อนที่สบายๆ หรือกับครอบครัว เราก็ยังต้องคิด แม้ไม่ใช่อยู่กับอริ แต่ต่างคนต่างอยู่ ไม่พูดจากันเลย ยิ่งทำไม่ได้ เพราะอย่างน้อยๆ เราต้องรักษามารยาทต่ออีกฝ่าย ต้องคิดถึงใจเขา ประเดี๋ยวจะถูกเข้าใจผิดได้ว่าเมินใส่ เมื่อเทียบกับเวลาอยู่คนเดียว จึงไม่เป็นอิสระเลย ถูกจำกัด ถูกกดดัน นี่คือสภาวะที่ก่อสมองล้า จะคิดอะไรเป็นอิสระก็ทำได้ยาก”

พร้อมกับแนะนำเทคนิคสร้างชั่วโมงส่วนตัวเอาไว้ ง่ายๆ 10 ขั้นตอน

หนึ่ง- เริ่มด้วยการถอยห่างจากงานที่ทำตอนนี้ จะช่วยเปลี่ยนวงจรของสมองที่วนเวียนกับสิ่งเดิมจนเป็นนิสัย

สอง- จัดเตรียมบริเวณที่แยกเราออกมาจากภายนอก เป็นที่ที่อยู่แล้วเหมือนได้ปลีกตัวออกจากงาน

สาม- ออกมาแล้วห้ามคิดเรื่องงาน ต้องทำให้ใจสบายๆ ไม่คิดงานอะไรทั้งสิ้น

สี่- ใช้เวลาโดยไม่คิดถึงอะไรสักครู่ ตรงนี้จะยากที่สุด ความคิดเป็นร้อยพันจะผุดขึ้นมา พยายามอย่าสู้รบกับความคิดเรา

ห้า- ภายในสองวันควรกำหนดเวลาว่าง ไม่ทำอะไร ระยะสั้นๆ ก็ได้ จะช่วยให้ประสาทพาราซิมพาเทติกกับสมองซีกขวาทำงานดี

หก- ต้องหาเวลาอยู่คนเดียวเสียก่อน แล้วจะเจอพลังสร้างสรรค์ ความสามารถต่างๆ ที่หลับใหลอยู่ในตัวเรา

เจ็ด- พลังสร้างสรรค์มิได้ร่วงลงมาจากฟากฟ้า หากแต่พวยพุ่งมาจากภายในตัวเรา จึงจำเป็นต้องมีเวลาอยู่กับตนเอง

แปด- การพักผ่อนไม่จำเป็นต้องเลิศหรู ขอให้ได้อยู่ในที่ที่เราถูกใจเป็นพอ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรเสียดายเงิน

เก้า- ไอเดียเป็นสิ่งบังคับไม่ได้ จงเชื่อมั่นสมองที่สงบ เป็นสุข แล้วมันจะ “ออกมาเอง”

สิบ- ถ้าไม่ได้อะไรจากเวลาที่ใช้พักไป ก็ไม่ต้องเสียดาย แค่ทำแล้วสมองหายเหนื่อยก็ถือว่าคุ้มนักหนา

ทั้งสิบข้อนี้อาจต้องถามคนเป็นพ่อแม่ก่อนด้วยว่าได้เคยปล่อยให้มีช่วงเวลาเหล่านี้หรือเปล่า หรือเราง่วนกับงานต่างๆมากมาย จนเราไม่เคยปล่อยให้มีช่วงเวลาเหล่านี้เลย จากนั้นค่อยๆ ปล่อยให้ลูกมีช่วงเวลาว่าง อยู่กับตัวเองบ้าง

แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ พ่อแม่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดก่อนว่า การให้ลูกอยู่เฉยๆ ไม่ได้หมายความว่าปล่อยเวลาให้สูญเปล่า หรือหายใจรดทิ้ง หรือคิดว่าลูกจะได้ไม่มีพัฒนาการใดๆ ตรงกันข้าม การปล่อยช่วงเวลาให้ลูกอยู่เฉยๆ เสียบ้าง จะทำให้เราเห็นอะไรบางอย่างในตัวลูก ในแบบที่เขาเป็น ไม่ใช่ในแบบที่เราอยากให้เป็นค่ะ

31 January 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By STY_Lib

Views, 1300

 

Preset Colors