02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: ศิลีญา แก้วเหล็ก.

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการดำเนินโครงการดูแลผู้ป่วยด้านจิตวิญญาณ ธรรมะพัฒนาชีวิต ฝึกจิตเข้มแข็ง.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2, เรื่อง เรียนรู้เพื่อการบำบัดโรคซึมเศร้าและการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย, วันที่ 25-28 กรกฎาคม 2550 ณ. โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย, หน้า 157.

รายละเอียด / Details:

ความเป็นมา งานสุขภาพจิตในประเทศไทยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) ที่มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในการพัฒนา โดยให้ประชาชนตระหนักในการมีส่วนร่วม และมีความสามารถในการดูแลสุขภาพจิตตนเอง ครอบครัวและชุมชน รวมทั้งสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิต ที่มีมาตรฐาน อย่างเสมอภาคและเป็นธรรม โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ ได้ให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตโดยการดูแลผู้ป่วยยึดหลักการดูแลแบบองค์รวม ซึ่งจะต้องครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยเฉพาะการดูแลในด้านจิตวิญญาณ ได้มีการศึกษาค้นคว้าเพื่อหารูปแบบหรือวิธีการต่างๆ มาปรับใช้เพื่อให้เหมาะสมกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชมาตลอดพบว่า การสวดมนต์ฝึกสมาธิ และฟังธรรม เป็นพิธีกรรมหนึ่งที่พบได้ในวิถีชีวิตประจำวันของชาวไทยพุทธโดยทั่วไปดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวช ได้รับการดูแลครอบคลุมทางจิตวิญญาณ จึงได้จัดทำโครงการธรรมะพัฒนาชีวิตฝึกจิตเข้มแข็ง ในผู้ป่วยจิตเวชทั่วไปขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้และสามารถนำหลัก พุทธศาสนามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และเพื่อเสริมสร้างความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้ป่วย โครงการ มีวิธีดำเนินการคือ 1) ประชุมปรึกษา วางแผนร่วมกับบุคลากรทุกระดับในหน่วยงาน 2) เตรียมสถานที่ อุปกรณ์การสวดมนต์ ฟังธรรม และอุปกรณ์อื่นๆ 3) จัดให้ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการทุกวัน เวลา 19.00 น. – 20.30 น. โดยมีกิจกรรมคือ 1) สวดมนต์ทำวัตรเย็น โดยใช้คู่มือบทสวดมนต์แปลประมาณ 30 นาที 2) ฝึกสมาธิ ประมาณ 5-10 นาที 3) ฟังธรรมจากเทป CD หรืออ่านหนังสือธรรมะประมาณ 30-50 นาที 4) สนทนาธรรม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประมาณ 15 นาที ผลการศึกษา ระยะที่ 1 (1 มี.ค-30 เม.ย 49) เป็นระยะทดลอง ผู้ป่วยจิตเวชเข้าร่วมโครงการ จำนวน 23 คนพบว่า ผู้ป่วยที่เข้าร่วมได้ครบทั้ง 7 วันและ 21 วันมีระดับคะแนนเฉลี่ยของความผาสุกทางจิตวิญญาณ และความเข้มแข็งในการมองโลกสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการ ระยะที่ 2 (1 พ.ค. 49-28 ก.พ. 50) จากความคิดเห็นผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 150 คน พบว่า ทำให้จิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่าน คิดเป็นร้อยละ 83.3 รู้สึกผ่อนคลายสบายใจ คิดเป็นร้อยละ 72 และร้อยละ 56.6 มีสมาธิมากขึ้น และมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงจากการสังเกตของทีมการพยาบาลคือ ไม่มีพฤติกรรมทำร้ายผู้อื่น ทะเลาะวิวาทน้อยลง รู้จักการให้อภัย ช่วยเหลือกันและกัน มีจิตใจอาสา รับผิดชอบการรับประทานยา และรอคอยญาติอย่างสงบ บทสรุปการเรียนรู้ พบว่าบุคลากรมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบบริการพยาบาลให้มีคุณภาพแต่ยังขาดความรู้ ทักษะ และความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยด้านจิตวิญญาณ คงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป

Keywords: ธรรมะ, การพัฒนาชีวิต, การดูแลผู้ป่วยด้านจิตวิญญาณ, สุขภาพจิต, ผู้ป่วยจิตเวช, ระบบบริการพยาบาล, การพยาบาลจิตเวช, บริการพยาบาล, ศาสนา, หลักธรรม, การสวดมนต์, พุทธศาสนา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์.

Code: 2007000224

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2

Download:

 

Preset Colors