02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: พรทิพย์ พิมพ์สมาน.

ชื่อเรื่อง/Title: ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลและบรรยากาศองค์การกับประสิทธิผลของ การพยาบาลในหอผู้ป่วยตามการรับรู้ของพยาบาลประจำการโรงพยาบาลจิตเวช กรมสุขภาพจิต.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2, เรื่อง เรียนรู้เพื่อการบำบัดโรคซึมเศร้าและการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย, วันที่ 25-28 กรกฎาคม 2550 ณ. โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย, หน้า 151.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ปัจจุบันสถานบริการด้านสุขภาพมีการแข่งขันด้านคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนได้เลือกใช้บริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานและเป็นที่พึงพอใจ ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด ทั้งด้านงบประมาณและทรัพยากรบุคคล ซึ่งทรัพยากรบุคคลเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อองค์การ เป็นตัวกำหนดความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์การ การที่ผู้ปฏิบัติงานเกิดความผูกพันในองค์การ เสียสละ มีความพึงพอใจในการทำงานทัศนคติที่ดี เป็นผลมาจากการรับรู้บรรยากาศองค์การซึ่งมีอิทธิพลทำให้องค์การนั้นประสบความสำเร็จตามเป้าหมายหรือยับยั้งความสำเร็จขององค์การ ดังนั้นโดยคำนึงถึงประโยชน์เกี่ยวกับคุณภาพบริการที่เกิดแก่ผู้รับบริการ ผู้วิจัยจึงศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล และบรรยากาศองค์การกับประสิทธิผลของ การพยาบาลในหอผู้ป่วยตามการรับรู้ของพยาบาลประจำการ เพราะพยาบาลเป็นผู้ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับผู้รับบริการ หอผู้ป่วยเป็นสถานที่สำหรับให้บริการโดยตรง เป็นจุดแห่งการสร้างสรรค์คุณภาพบริการ ซึ่งผลการศึกษาจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา และปรับปรุงคุณภาพบริการขององค์การพยาบาลและภาพรวมของโรงพยาบาล วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล บรรยากาศองค์การกับประสิทธิผลของการพยาบาลในหอผู้ป่วยตามการรับรู้ของพยาบาลประจำการ โรงพยาบาลจิตเวช ขนาด 500 เตียง กรมสุขภาพจิต สังกัดกระทรวงสาธารณสุข วิธีการดำเนินงาน การวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างคือพยาบาลประจำการ ได้แก่พยาบาลวิชาชีพพยาบาลเทคนิค และเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลจิตเวชจำนวน 150 คน โดยใช้แบบสอบถาม 1 ชุด ประกอบด้วยข้อมูลส่วนบุคคล บรรยากาศองค์การ และประสิทธิผลของการพยาบาลในหอผู้ป่วย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ผลการศึกษา พบว่า พยาบาลส่วนใหญ่ร้อยละ 65.0 มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มีสภาพสมรส คู่ร้อยละ 62.0 ระดับการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่าร้อยละ 60.0 มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ร้อยละ 33.0 บรรยากาศองค์การทั้งภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับสูง จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์พบว่า อายุมีความสัมพันธ์กับประสิทธิผลของการพยาบาลในหอผู้ป่วย (r=0.22) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ 0.05 สภาพสมรส ระดับการศึกษา และระยะเวลาในการปฏิบัติงานไม่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิผลของการพยาบาลในหอผู้ป่วย บรรยากาศองค์การมีความสัมพันธ์ทางบวกกับประสิทธิผลของการพยาบาลในหอผู้ป่วยตามการรับรู้ของพยาบาลประจำการ (r=0.85) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ข้อเสนอแนะ โรงพยาบาลและองค์การพยาบาลจะต้องรักษาระดับบรรยากาศองค์การให้คงอยู่ในระดับสูง โดยการกำหนดเป้าหมายและนโยบายองค์การอย่างชัดเจน ที่เกิดจากการตกลงร่วมกันเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ บุคลากรจะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและให้ความสำคัญในการทำงานเป็นทีม ผู้บริหารควรพิจารณาความเหมาะสมของกฎระเบียบในการปฏิบัติ การส่งเสริมให้เกิดแรงจูงใจโดยการให้รางวัลการปรับปรุงการสื่อสารเพื่อลดความขัดแย้งและการปรับสภาพแวดล้อมให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

Keywords: พยาบาลประจำการ, การรับรู้, ปฏิบัติการพยาบาล, คุณภาพบริการ, พยาบาลจิตเวช, การพยาบาล, หอผู้ป่วยจิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา.

Code: 2007000220

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2

Download:

 

Preset Colors