02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: สุพาณี ตันตะโนกิจ.

ชื่อเรื่อง/Title: การบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลศรีธัญญา.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่องสุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 204.

รายละเอียด / Details:

การบริบาลเภสัชกรรม (Pharmaceutical care) เป็นความรับผิดชอบของเภสัชกรต่อการใช้ยา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยา เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยเภสัชกรมีบทบาทโดยตรงในการวินิจฉัยทางเภสัชกรร เพื่อค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้ยาของผู้ป่วย ยาจิตเวชเป็นกลุ่มยาที่มีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ทั้งชนิดรุนแรง เช่น neuroleptic malignant syndrome steven johnson syndrome และชนิดไม่รุนแรง เช่น extrapyramidal syndrome เภสัชกรควรมีบทบาทต่อการดูแลด้านยา เพื่อความปลอดภัยและการยอมรับการใช้ยาของผู้ป่วยและญาติ วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อค้นหาปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วย วางแผน แก้ไขปัญหาผู้ป่วยเฉพาะราย และพัฒนา การให้คำปรึกษาปัญหาการใช้ยาไปสู่การบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก วิธีการศึกษา เป็นแบบพรรณนาไปข้างหน้า โดยจัดทำเกณฑ์การคัดกรองผู้ป่วยนอก เพื่อการบริบาลเภสัชกรรมได้แก่ ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยา ผู้ป่วยที่มีการใช้ยาแบบปรับขนาดยาผู้ป่วยที่แพทย์ส่งพบเภสัชกร เมื่อเกิดปัญหาการใช้ยาและผู้ป่วยนอกรายใหม่ เภสัชกรผู้จ่ายยา แพทย์หรือพยาบาลผู้ป่วยนอกจะส่งผู้ป่วย และหรือญาติที่เกณฑ์ให้เภสัชกรห้องให้คำปรึกษาเรื่องยาทำการค้นหาปัญหาการใช้ยา วางแผนและแก้ไขหรือป้องกันปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วยเฉพาะราย บันทึกข้อมูลลงในแบบบันทึกการให้คำปรึกษาเรื่องยาผู้ป่วยนอก เก็บข้อมูลระหว่างมกราคม 2550 ถึงมิถุนายน 2550 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติร้อยละ ผลการศึกษา ผู้ป่วย 229 ราย เพศชาย 100 ราย (ร้อยละ 44) เพศหญิง 129 ราย (ร้อยละ 56) เป็นผู้ป่วย 93 ราย (ร้อยละ 41) ญาติ 50 ราย (ร้อยละ 22) ผู้ป่วยพร้อมญาติ 86 ราย (ร้อยละ 38) ผู้ส่งผู้ป่วยเพื่อประเมินปัญหาการใช้ยาโดยแพทย์ 20 ราย (ร้อยละ 9) เภสัชกรผู้จ่ายยา 17 ราย (ร้อยละ 7) ผู้ป่วยขอคำปรึกษาเอง 46 ราย (ร้อยละ 20) พยาบาลผู้ป่วยนอก 96 ราย (ร้อยละ 42) และอื่นๆ 50 ราย (ร้อยละ 22) พบผู้ป่วยมีอาการไม่พึงประสงค์จากยาจิตเวช 63 ราย (ร้อยละ 28) ไม่สามารถใช้ยาตามแพทย์สั่งได้ถูกต้อง 22 ราย (ร้อยละ 10) โดยมีสาเหตุจากผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยา 10 ราย ผู้ป่วยไม่เข้าใจวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง 1 ราย ผู้ป่วยปฏิเสธการใช้ยา 8 ราย และมีเหตุผลอื่น 3 ราย ดำเนินการป้องกันการแพ้ยาซ้ำโดยติดคำเตือนที่เวชระเบียน 12 ราย (ร้อยละ 5) ตรวจสอบ drug interaction 2 ราย (ร้อยละ 1) แนะนำการปรับยาเพื่อการรักษา 9 ราย (ร้อยละ 4) เป็นผู้ป่วยใหม่แนะนำสรรพคุณ วิธีใช้ยาอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นรวมทั้งการแก้ไขเบื้องต้น 59 ราย (ร้อยละ 26) สรุปผล การศึกษาการบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกโดยการค้นหาปัญหาการใช้ยา พบปัญหาเรื่องอาการไม่พึงประสงค์มากที่สุด รองลงมาคือการไม่สามารถใช้ยาตามแพทย์สั่งได้ถูกต้อง สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาจากงานให้คำปรึกษาเรื่องยาไปสู่การบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกได้ข้อเสนอแนะ การบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกควรมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการติดตามประเมินผลผู้ป่วยโดยนัดผู้ป่วยพบเภสัชกร เมื่อมาพบแพทย์คราวหน้า และมีการดำเนินงานร่วมกับสหวิชาชีพเมื่อพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาจากการใช้ยาที่ซับซ้อน ควรส่งต่อให้แก่สหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม

Keywords: การบริบาลเภสัชกรรม, เภสัชกร, ยาจิตเวช, อาการข้างเคียงของยา, อาการไม่พึงประสงค์, ยาต้านโรคจิต, ผู้ป่วยจิตเวช, ผู้ป่วยนอก, คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย, การดูแลด้านยา, เภสัชกรรม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา.

Code: 2007000187

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download:

 

Preset Colors