02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: เกียรติภูมิ วงศ์รจิต, จุฬารัตน์ วิเรขะรัตน์, ธันยะ จันทร์สุเทพ.

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชด้วยการปลูกพืชไร้ดิน.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 171.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชนับได้ว่าเป็นภารกิจหลักของโรงพยาบาลศรีธัญญา ซึ่งโรงพยาบาลได้ดำเนินการสร้าง พัฒนา และปรับปรุงกิจกรรมเพื่อใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชมาอย่างต่อเนื่อง และโดยเหตุที่ในปัจจุบันได้มุ่งเน้นในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะการรับประทานพืชผักธัญญาหารที่ปลอดสารพิษ ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาลจึงเห็นควรให้นำกิจกรรมการปลูกผักแบบปลอดสารพิษเข้ามาเป็นกิจกรรมหนึ่งในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย โดยเน้นการนำนวัตกรรมใหม่ คือ การปลูกพืชไร้ดิน (Hydroponics) ใช้ระบบการหมุนเวียนของน้ำแทนการปลูกพืชในดินอย่างที่เคยปฏิบัติมา ทั้งนี้ได้มีการปรับกิจกรรมขั้นตอนการปลูกให้สามารถใช้ประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง นอกจากหวังผลให้ผู้ป่วยสามารถทำงาน (อาชีพ) ได้แล้ว ยังคาดหวังในการปรับลดอาการทางลบในผู้ป่วยรวมทั้งความสามารถในการดูแลให้ด้วย วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างรูปแบบขั้นตอนต่างๆ ในการปฏิบัติกิจกรรมในลักษณะของการผสมผสานการทำงาน เพื่อการฝึกอาชีพและการบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพตนเองโดยมุ่งเน้นการแก้ไขอาการทางลบและพัฒนาศักยภาพในการดูแลตนเองของผู้ป่วย วิธีการศึกษา แบ่งวิธีการศึกษาเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 การเตรียมการ การศึกษาดูงาน การสร้างกิจกรรม ที่ผสมผสานระหว่างการทำงาน (การฝึกอาชีพ) และการบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพตนเอง ใช้เวลา 3 เดือน ช่วงที่ 2 คัดเลือกผู้ป่วยโดยเป็นผู้ที่สื่อสารเข้าใจ และช่วยตนเองได้ จำนวน 3 คน ดำเนินกิจกรรม 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเตรียมอุปกรณ์ ขั้นเพาะกล้า ขั้นปลูก ขั้นดูแล และขั้นเก็บผลผลิต ซึ่งการดำเนินกิจกรรมการปลูกในช่วงนี้จะมี 3 รอบๆ ละ 1 เดือน คือ ปลูกรอบแรกจะเป็นการเข้ากลุ่มและสาธิตเต็มรูปแบบ ส่วนรอบที่ 2 และ 3 ใช้การศึกษาด้วยตนเองจากบอร์ดความรู้การปลูกพื้ชไร้ดิน (Hydroponics) ที่จัดทำไว้ภายในโรงเรียนร่วมกับการซักถามจากเจ้าหน้าที่ของโครงการ โดยแต่ละขั้นตอนเชื่อมโยงเนื้อหามาสู่การปรับลดอาการทางลบและการดูแลตนเองของผู้ป่วย ช่วงที่ 3 การประเมินผล ซึ่งมี 2 ครั้ง คือ เมื่อเก็บผลผลิตเสร็จ และหลังจากนั้นอีก 2 เดือนประเมินครั้งที่ 2 เครื่องมือที่ใช้ ประกอบด้วย กิจกรรมที่ผสมผสานระหว่างการทำงาน (การฝึกอาชีพ) และการบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพตนเอง แบบประเมินความก้าวหน้าในการปฏิบัติกิจกรรมของผู้ป่วยทั้งในเรื่องทักษะการฝึกอาชีพ ทักษะการดูแลตนเอง และการประเมินอาการทางลบ ผลการศึกษา พบว่า 1) รูปแบบกิจกรรม และขั้นตอนต่างๆ ที่กำหนดขึ้นสามารถใช้ได้จริง ผู้ป่วยเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามได้ 2) แบบประเมินที่ใช้สามารถใช้ในการประเมินพฤติกรรมความก้าวหน้าของผู้ป่วยได้ 3) ผู้ป่วย 3 รายมีทักษะในการทำงานทุกขั้นตอนแต่ยังไม่สามารถตัดสินใจหรือทำงานได้เองตามลำพัง ส่วนพฤติกรรมการดูแลตนเองดีขึ้น และอาการทางลบลดลง ข้อเสนอแนะ ควรมีการปรับขั้นตอนให้กระชับขึ้นและปรับแบบประเมินให้ใช้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่บุคลากรในวิชาชีพ รวมทั้งให้ผู้ป่วยสามารถประเมินตนเองได้ ควรมีการขยายผลในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ และในเชิงวิชาการควรมีการศึกษาวิจัยอย่างเต็มรูปแบบ

Keywords: ผู้ป่วยจิตเวช, การฟื้นฟูสมรรถภาพ, ปลูกพืชไร้ดิน, การส่งเสริมสุขภาพ, เกษตรบำบัด, อาชีวบำบัด, ฝึกอาชีพ, ผู้ป่วยโรคจิต, กิจกรรม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา.

Code: 2007000148

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download:

 

Preset Colors