02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: สุวรรณา อรุณไพศาล, ธรณินทร์ กองสุข, ณรงค์ มณีทอน และคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาและความเที่ยงตรงของแบบคัดกรองโรคซึมเศร้าชนิด 2 คำถามในชุมชนไทยอีสาน.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 108.

รายละเอียด / Details:

การคัดกรองโรคซึมเศร้าจะป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าในประชาชนทั่วไป ผู้ที่มีแนวโน้มหรือเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า การที่มีเครื่องมือคัดกรองที่มีความเที่ยงตรง และตรงกับบริบทของผู้ใช้ ที่สะดวกง่าย จะทำให้การค้นหาและดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้เร็วขึ้น วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาเครื่องมือคัดกรองที่กรองโรคซึมเศร้าที่สั้น ง่าย ตรงกับบริบทของผู้ใช้และศึกษาความเที่ยงตรงของแบบคัดกรองโรคซึมเศร้าชนิด 2 คำถาม ภาษาอีสาน (2Q) ในชุมชนไทยอีสาน วิธีการศึกษา แบ่งเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 พัฒนาเครื่องมือคัดกรองโรคซึมเศร้าที่ใช้แสดงความรู้สึกของคนอีสานในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา รวมกับวันที่สัมภาษณ์ แบ่งเป็น 2 คำถาม คำถามแรก "เจ้ามีอาการมูนี่บ่" : อุกอั่ง หงอย เซ็ง หนหวย บ่เป็นตาอยู่ มีแต่อยากไฮ่" และคำถามที่สอง "บ่สนใจหยัง บ่อยากเฮ็ดหยัง บ่ม่วนบ่ชื่น" ระยะที่ 2 ศึกษาความเที่ยงตรง โดยการศึกษาแบบ Diagnostic test study ในกลุ่มประชากรไทยอีสานในชุมชนของจังหวัดยโสธร จำนวน 1002 คน อายุ 18 ปีขึ้นไป ใช้แบบสัมภาษณ์เชิงโครงสร้างชนิด M.I.N.I (Mini International Neuropsychiatric Interview) เพื่อวินิจฉัยโรคซึมเศร้า วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติหาค่าความไว ความจำเพาะ ความน่าจะเป็นโรค และค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลการศึกษา อัตราความชุกโรคซึมเศร้าพบร้อยละ 5.6 แบ่งเป็นโรคซึมเศร้าหลัก (Major Depressive Disorder) พบร้อยละ 3.7 คำถามข้อ 1 มีการตอบ "ใช่" มากกว่าคำถามข้อ 2 ถึง 3 เท่า ความแม่นตรงของ 2Q พบว่า คำถามข้อ 1 อารมณ์เศร้ามีความไวสูงร้อยละ 96.5 (95%CI=95.4-7.6%) ความจำเพาะต่ำร้อยละ 45.6 (95%CI=42.5-48.7%) คำถามข้อ 2 มีความไวต่ำร้อยละ 71.9 (95%CI=69.2-74.7%) แต่ความจำเพาะสูงร้อยละ 84.7 (95%CI=81.9-86.4%) เมื่อนำมาประกอบกัน ถ้าตอบคำถามข้อใดข้อหนึ่งว่า ใช่ จะมีความไวสูงถึงร้อยละ 96.5 (95%CI=95.4-97.6%) แต่ความจำเพาะต่ำร้อยละ 44.6% (95%CI=41.5-47.6%) ความน่าจะเป็นโรคซึมเศร้า (Positive Likelihood Ratio) เท่ากับ 1.74 เท่า แต่ถ้าทั้งสองข้อตอบว่า "ใช่" จะเพิ่มความจำเพาะสูงขึ้นถึงร้อยละ 85.1% (95%CI=82.9-87.3%) ความน่าจะเป็นโรคซึมเศร้า (Positive Likelihood Ratio) เท่ากับ 4.82 เท่า สรุป แบบคัดกรองโรคซึมเศร้า 2Q สามารถค้นหาโรคซึมเศร้าในชุมชนได้ เพราะ สั้น ใช้ง่ายมีความไวสูง ถ้าตอบทั้งสองข้อตอบว่า "ใช่" จะมีความจำเพาะสูงและความน่าจะเป็นโรคสูง ข้อเสนอแนะ แบบคัดกรองโรคซึมเศร้า 2Q แกนนำชุมชน/อสม. และบุคลากรทางสาธารณสุขทุกระดับสามารถนำไปค้นหาผู้ที่มีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในชุมชนเข้ามาในระบบบริการสาธารณสุข และเป็นการพัฒนาเครื่องมือคัดกรองโรคซึมเศร้าครั้งแรกของไทยที่ตรงกับบริบทของผู้ใช้โดยเฉพาะคนไทยอีสาน

Keywords: โรคซึมเศร้า, แบบคัดกรองโรคซึมเศร้าชนิด 2 คำถาม, ภาษาอีสาน, ภาวะซึมเศร้า, แบบคัดกรอง, ความเที่ยงตรง, ชุมชนไทยอีสาน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

Code: 2007000111

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download:

 

Preset Colors