02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: ประเสริฐ จุฑา.

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของเด็กที่มารับบริการ ณ แผนกผู้ป่วยนอกสถาบันราชานุกูล ระหว่างปี พ.ศ. 2534-2545.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 99.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ จากการศึกษาสถานการณ์ปัญหาของเด็กไทย (กระทรวงสาธารณสุข, 2547 : 1) พบว่าพัฒนาการของเด็กไทยมีแนวโน้มลดลง มีระดับพัฒนาการในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างช้ากว่าวัยเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล แต่ไม่ว่าสาเหตุของพัฒนาการล่าช้านั้นจะมาจากสาเหตุทางพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมก็ตาม สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการรักษา ป้องกัน และส่งเสริมกลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าก็คือการค้าหาเพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการประเมินพัฒนาการตั้งแต่ระยะเริ่มแรก อันจะนำไปสู่การวินิจฉัยและช่วยเหลือตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของชีวิต วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาพัฒนาการของเด็ก และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเด็กที่มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก สถาบันราชานุกูล วิธีการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive research) กลุ่มตัวอย่างได้มาจากการสุ่มแบบจำเพาะเจาะจง (Purposive Sampling) โดยคัดเลือกจากเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า อายุ 1 เดือน ถึง 6 ปี ที่มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก สถาบันราชานุกูล เฉพาะที่ได้รับการทดสอบพัฒนาการด้วยแบบทดสอบพัฒนาการของเดนเวอร์ (Denver Developmental Screening Test: DDST) ระหว่างปี พ.ศ. 2534-2545 จำนวนทั้งสิ้น 369 ราย โดยใช้แบบบันทึกข้อมูลการวิจัยที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเองในการเก็บรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบค่าที่ (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way Analysis of Variance) ผลการศึกษา ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีจำนวนทั้งสิ้น 369 คน เป็นชายร้อยละ 58.0 และเป็นหญิงร้อยละ 42.0 โดยมีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 30.25 เดือน มีค่าเฉลี่ยของพัฒนาการโดยรวมเท่ากับ 31.04 เดือน โดยพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 34.41 เดือน และพัฒนาด้านภาษามีค่าเฉลี่ยต่ำสุดเท่ากับ 25.83 ปัจจัยที่มีผลต่อความแตกต่างของพัฒนาการของเด็กอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คือ เขตที่อยู่อาศัย อายุของบิดา การศึกษาของบิดา รายได้ของบิดา อายุของมารดา การศึกษาของมารดา การวินิจฉัยของแพทย์ และการมียารับประทานประจำ สรุปผลการศึกษา พัฒนาการของเด็กยังขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ หน่วยงานหรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องจึงควรพิจารณาปัจจัยดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การพัฒนาช่วยเหลือทั้งเด็ก ครอบครัว และผู้เกี่ยวข้องได้ถูกต้องตรงกับสภาพความเป็นจริงของเด็กแต่ละคน ข้อเสนอแนะ เครื่องมือที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นไม่สามารถดำเนินการให้ครอบคลุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ เนื่องจากข้อจำกัดของการศึกษา ดังนั้นในการศึกษาครั้งต่อไปควรนำปัจจัยอื่นๆ เช่น แรงสนับสนุนทางสังคม ภาวะสุขภาพจิตของครอบครัว เข้ามาประกอบด้วย เพื่อให้ได้คำตอบชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

Keywords: พัฒนาการของเด็ก, พัฒนาการเด็กไทย, พัฒนาการช้า, สถาบันราชานุกูล, เด็ก

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สถาบันราชานุกูล.

Code: 2007000103

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download:

 

Preset Colors