02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: ชาย ธีระสุตและคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการขยายเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 202.

รายละเอียด / Details:

โรคจิตจากสาเหตุต่างๆ โดยเฉพาะโรคจิตเภทเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องให้การรักษาเป็นเวลานาน ผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาบาลมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยและญาติรอนาน การมารับยาแต่ละครั้งต้องเสียค่าโดยสาร เป็นเหตุให้ผู้ป่วยขาดนัด ขาดการรักษาต่อเนื่องและเกิดอาการกำเริบซ้ำ วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคจิตเรื้อรังและจิตเภทได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยแบบใกล้บ้านใกล้ใจ ประชากรเป้าหมาย 1) ผู้ป่วยโรคจิตที่เป็นผู้สูงอายุ/พิการ และมีอาการสงบที่อาศัยอยู่ในเขต อ.เมือง และ อ.พยุห์ 2) บุคลากรสาธารณสุขในสถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชนในเขต อ.เมือง และอ.พยุห์ วิธีดำเนินงาน 1) ระยะเตรียมการ มีการประชุมอภิปรายปัญหาและข้อดีข้อเสียโดยทีมสหวิชาชีพ จัดทำคู่มือการดูแลผู้ป่วยโรคจิตและจิตเวช 2) ระยะดำเนินการ 2.1 อบรมความรู้ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนแก่บุคลากรสาธารณสุขกลุ่มเป้าหมาย 2.2 เภสัชกรเตรียมรายการยาจิตเวช 2.3 แจ้งแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง 2.4 ดำเนินการให้ผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายรับยาที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน 3) ระยะประเมินผล 3.1 นิเทศติดตามเยี่ยมบ้าน ประเมินผลขั้นแรก 3.2 ประชุมอบรมเพื่อติดตามประเมินผลและแก้ไขปรับปรุงปัญหาอุปสรรคและในการดำเนินงาน เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงาน 1) แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้รับบริการและผู้ให้บริการ 2) แบบประเมินความรู้และทัศนคติของบุคลากรต่อผู้ป่วยจิตเวช ผลการดำเนินงาน 1) ความพึงพอใจของผู้รับบริการก่อนดำเนินการ ร้อยละ 84.4 2) ความพึงพอใจของบุคลากรก่อนดำเนินการ ร้อยละ 90.2 3) มีพยาบาลวิชาชีพและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากสถานีอนามัยในเขต อ.เมืองและพยุห์ เข้าร่วมอบรม จำนวน 27 แห่ง/47 คน 4) แบบประเมินความรู้ในการดูแลผู้ป่วยก่อนดำเนินการพบมีความรู้ที่ถูกต้อง ร้อยละ 81 5) ทัศนคติต่อผู้ป่วยจิตเวชที่เหมาะสมก่อนดำเนินการ ร้อยละ 90 6) มีผู้ป่วยจำนวน 47.0 ราย ที่ถูกส่งไปรับยาที่สถานีอนามัย 7) การติดตามเยี่ยมบ้านครั้งที่ 1 พบว่าผู้ป่วยและญาติมีความพึงพอใจร้อยละ 100 สรุปผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะ ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังและจิตเภทมีแนวโน้มต้องได้รับการรักษาเป็นเวลานาน บางรายอาจตลอดชีวิต การให้ครอบครัวและชุมชนมีส่วนในการดูแลตลอดจนการให้การดูแลใกล้บ้านใกล้ใจ จะทำให้อัตราการขาดยาตลอดจนเกิดอาการกำเริบน้อยลงส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติดีขึ้นได้ ขณะนี้การดำเนินโครงการยังไม่สิ้นสุดยังต้องติดตามต่อเนื่องในระยะยาวต่อไป

Keywords: ผู้ป่วยจิตเวช, การดูแล, เครือข่าย, โรคจิตเภท, ความรู้, ทัศนคติ, คุณภาพชีวิต, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลศรีสะเกษ, สสอ.เมืองศรีสะเกษ, สสอ.พยุห์ จ.ศรีสะเกษ

Code: 200600096

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -

 

Preset Colors