02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: จันทนา ศรีวิศาล, นพรัตน์ ไชยชำนิ.

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของการจัดการผู้ป่วยรายกรณีต่อจำนวนวันนอนในโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ความพึงพอใจต่อบริการของผู้ป่วยและญาติ และอัตราการป่วยซ้ำของผู้ป่วยจิตเภท

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 228.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบจำนวนวันนอนในโรงพยาบาลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ความพึงพอใจต่อบริการของผู้ป่วยและญาติ และอัตราการป่วยซ้ำระหว่างผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนที่ได้รับการดูแลตามปกติ กับกลุ่มที่ได้รับการจัดการผู้ป่วยรายกรณี จำแนกกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม คือผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในจำนวน 50 คน และญาติผู้ป่วยจิตเภท จำนวน 50 ซึ่งจัดเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมในแต่ละประเภทกลุ่มละ 25 คน กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ ส่วนกลุ่มทดลองได้รับการจัดการผู้ป่วยรายกรณี โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ คู่มือการดูแลผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนโดยใช้ระบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณี แผนการดูแลผู้ป่วยล่วงหน้าสำหรับผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนระยะเฉียบพลัน แบบบันทึกค่ารักษาพยาบาล และจำนวนวันนอนในโรงพยาลบาล แบบวัดความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติ ซึ่งได้ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา โดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12 ท่าน ค่าความเที่ยงของแบบวัดทั้ง 2 ฉบับ เท่ากับ 0.96 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบที ผลการวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยจำนวนวันนอนในโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยกลุ่มทดลองน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ค่าเฉลี่ยระดับความพึงพอใจต่อบริการของผู้ป่วยและญาติกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และอัตราการป่วยซ้ำของผู้ป่วยหลังจากจำหน่ายภายใน 3 เดือนและ 6 เดือน กลุ่มทดลองต่ำกว่ากลุ่มควบคุม ข้อเสนอแนะ 1. การจัดการผู้ป่วยรายกรณี ทำให้เกิดผลลัพธ์การดูแลที่ดีคือ เพิ่มประสิทธิภาพของการดูแล ผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพ ส่งผลให้ผู้รับบริการมีความพึงพอใจต่อบริการที่ได้รับ และลดการป่วยซ้ำของผู้ป่วย ดังนั้นควรส่งเสริมให้มีการใช้การจัดการผู้ป่วยรายกรณีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่แรกรับผู้ป่วยเข้าอยู่ในโรงพยาบาลจนกระทั่งจำหน่ายไปสู่ชุมชน 2. ควรส่งเสริมให้มีการนำรูปแบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณีไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนในโรงพยาบาล เพื่อการพัฒนาบทบาทของวิชาชีพ ความรู้ ทักษะสร้างสรรค์คุณภาพการปฏิบัติงาน ก่อให้เกิดความมั่นใจ ภาคภูมิใจในการปฏิบัติ งานเป็นทีมและการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง.

Keywords: ผู้ป่วยจิตเภท, ความพึงพอใจ, จำนวนวันนอน, รักษาพยาบาลจิตเวช, จิตเภท, ผู้ป่วยโรคจิตเภท, โรคจิต, ค่ารักษาพยาบาล, บริการจิตเวช, การจัดการรายกรณี, ญาติ, อัตราการป่วยซ้ำ, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลสวนสราญรมย์

Code: 200600084

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -

 

Preset Colors