02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: งานอาชีวบำบัด กลุ่มงานฟื้นฟูสมรรถภาพ

ชื่อเรื่อง/Title: โรงพยาบาลกลางวัน พลิกผันชีวิต ผู้ป่วยจิตเวช.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 77.

รายละเอียด / Details:

เมื่อกล่าวถึงผู้ป่วยจิตเวช หลายคนมักมองว่าเป็นคนวิกลจริต ไม่น่าเข้าใกล้ ไม่อยากพบปะพูดคุยหรือร่วมงานด้วย แต่แท้จริงแล้วบุคคลเหล่านี้ก็มีความรู้สึกนึกคิดมีความสามารถในการที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้ เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เพียงแต่ว่าอาจต้องได้รับการช่วยเหลือทางด้านการรักษา เช่น การใช้ยา และได้รับการสนับสนุนส่งเสริมทางด้านต่างๆ เช่น การฝึกอาชีพก่อนเข้าสู่ชุมชน การฝึกทักษะการเข้าสังคม การให้การประคับประคองจิตใจ ฯลฯ และอีกสถาบันหนึ่งที่มีความสำคัญกับผู้ป่วยก็คือ สถาบันครอบครัว ผู้ใกล้ชิดควรเปิดใจให้กว้างยอมรับความเป็นจริงและเข้าใจในตัวผู้ป่วย ส่งเสริมให้เขาสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ อาจเริ่มจากกิจวัตรหรือสังคมของเราได้ ดังเช่นผู้ป่วยจิตเวชรายหนึ่ง เป็นชายไทย อายุ 30 ปี เมื่อ 10 ปีที่แล้วมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ต่างจากบุคคลทั่วไป คือ ขี่จักรยานยนต์วนรอบบ้าน นั่งหัวเราะคนเดียว บางครั้งยิ้มโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งเป็นสาเหตุให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช ปัจจุบันผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นมากแต่สิ่งที่หลงเหลือมาจากภาวะของโรคก็คือ อาการยิ้ม หัวเราะคนเดียว เคาะ สั่นมือและบางครั้งพูดบ่นคนเดียว แต่อาการเหล่านั้นไม่กระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันหรือการดำเนินชีวิตของเขา เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติในทางกลับกัน ชาวบ้านใกล้เคียงหรือแม้แต่บุคคลในครอบครัว ยังมองว่าเขาเป็นคนไม่ปกติและไม่เปิดใจยอมรับเขาอย่างเต็มที่ ดังนั้นการให้การบำบัดรักษาแบบโรงพยาบาลกลางวันจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนี้ การบำบัดรักษาจะส่งเสริมให้เขารู้จักทักษะการเข้าสังคม รู้จากการเริ่มต้นทักทายพูดคุยกับผู้อื่นจะมีผลให้ผู้ป่วยได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นมากขึ้น จึงจัดกิจกรรมการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีการตอบสนองในแบบที่ต้องการ คือ กิจกรรมการเข้ากลุ่มทักษะทางสังคม กิจกรรมการฝึกทักษะด้านอาชีพ โดยกิจกรรมทั้งหมดต้องผ่านการวิเคราะห์อย่างละเอียด เพื่อให้เกิดความเหมาะสมไม่เกินความสามารถและสอดคล้องกับทักษะที่ผู้ป่วยมีอยู่ เพื่อให้การรักษาบรรลุตามเป้าหมาย กิจกรรมการฝึกทักษะด้านอาชีพเดิมเขามีทักษะความสามารถในด้านช่างยนต์จึงจัดให้ฝึกงานด้านช่างยนต์ ที่ศูนย์ฝึกที่มีใบรับรองความสามารถ โดยทางกลุ่มงานฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นสื่อกลางในการติดต่อประสานงานเพื่อให้เขาได้ฝึกทักษะด้านอาชีพตามที่เขาถนัดตลอด 3 เดือน ที่ผ่านมาเขามีอาชีพ (ช่างยนต์) ได้เป็นคนทำงานอย่างเต็มตัว นำทักษะที่เขาได้ฝึกไปใช้ได้เป็นอย่างดี เขาสามารถไปสมัครงานได้ด้วยตนเอง ทำอาชีพที่ตัวเองรักและถนัดได้อย่างมีความสุข มีรายได้ ไม่เป็นภาระของครอบครัว แบ่งเบาภาระของครอบครัว แบ่งเบาภาระของผู้เป็นแม่ในการใช้จ่ายภายในบ้าน และสิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้เขารับรู้ว่าตัวเขาเองมีคุณค่าไม่ได้ด้อยไปกว่าผู้อื่น มีความสามารถ มีอาชีพ มีรายได้และสามารถดำเนินชีวิตภายใต้ศักยภาพที่เขามีอยู่ หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วบุคคลอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเขา หากได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ คงจะรู้สึกดีใจไม่น้อยเลย

Keywords: ผู้ป่วยจิตเวช, โรงพยาบาลกลางวัน, ทักษะทางสังคม, บำบัดรักษาทางจิตเวช, กิจกรรมบำบัด, ทักษะชีวิต, ครอบครัว, อาชีพ, การบำบัดรักษา, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์

Code: 200600036

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -

 

Preset Colors