02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: สมสนุก พระอามาตย์, ดรุณี คลพรหม, ธีราภา ธานี.

ชื่อเรื่อง/Title: กรณีศึกษา : การพัฒนารูปแบบการจำหน่ายผู้ป่วยโรคจิตในกรณีที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อนกลับสู่ชุมชน โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ อุบลราชธานี.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 179.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล สืบเนื่องจากโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ประสบปัญหาการกลับมารักษาซ้ำหลังจำหน่ายผู้ป่วยกลับสู่ชุมชนได้ไม่นาน และยังพบว่าผู้ป่วยที่กลับมารักษาซ้ำบ่อยๆ เป็นผู้ป่วยที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อนเป็นส่วนใหญ่ การวางแผนการจำหน่ายผู้ป่วยเป็นกิจกรรมหนึ่งที่พยาบาลต้องปฏิบัติเนื่องจากผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการจำหน่าย ทีมสุขภาพทุกคนต้องมีความรับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบซึ่งระบบการวางแผนตามความเหมาะสม และควรเริ่มวางแผนการจำหน่ายให้เร็วที่สุด วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการจำหน่ายผู้ป่วยโรคจิตในกรณีที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อนกลับสู่ชุมชน วิธีการศึกษา กลุ่มประชากรเป้าหมายเป็นผู้ป่วยโรคจิต 10 คน ญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วย 20 คนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ 10 คน แกนนำชุมชนและประชาชน 30 คน เลือกกลุ่มประชากรเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจงผู้ป่วยโรคจิตที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อนในการจำหน่าย ระหว่างเดือนกันยายน 2544 ถึงกันยายน 2546 เครื่องมือที่ใช้คือ1 ) แนวทางการสนทนากลุ่มญาติ/ผู้ดูแล 2)การสัมภาษณ์เชิงลึกญาติและผู้ป่วยใช้แบบแผนสุขภาพ 11 แบบแผนของมาโจรี่ กอร์ดอน 3) แบบสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มแกนนำชุมชนในการดูแลผู้ป่วย และ4) แบบสัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าหน้าที่สาธารณสุข วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) ผลการศึกษา กลยุทธ์ใหม่ของรูปแบบการจำหน่ายผู้ป่วยโรคจิตในกรณีที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อนกลับสู่ชุมชนในขั้นตอนการเตรียมชุมชนเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ผู้ป่วยทุกรายจะต้องได้รับการดำเนินการและการติดตามเยี่ยมสม่ำเสมอจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่อย่างน้อย 1-2 ปี จะทำให้เกิดการดูแลผู้ป่วยที่ต่อเนื่อง ปัญหาซับซ้อนน้อยลง ละยังค้นพบว่าการเตรียมชุมชนทำให้กลุ่มญาติ/ผู้ดูแลได้สะท้อนความรู้สึกที่เป็นภาระความยุ่งยาก ความลำบาก ความกดดัน ความทุกข์ ความห่วงใย ส่วนกลุ่มแกนนำชุมชนได้ให้ทัศนคติที่มีต่อผู้ป่วยในด้านบวก เช่น รู้สึกเห็นใจ เข้าใจ สงสารผู้ป่วย และจะช่วยญาติดูแลผู้ป่วย สำหรับกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ได้เข้าใจแนวทางการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องในชุมชนเมื่อจำหน่ายจากโรงพยาบาลและได้รูปแบบการเตรียมชุมชน สรุป ผลการศึกษาครั้งนี้ได้รูปแบบการจำหน่ายผู้ป่วยโรคจิตในกรณีที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อนกลับสู่ชุมชนซึ่งทำให้ทั้งผู้ป่วย/ญาติ/ผู้ดูแล แกนนำชุมชน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ได้รับรู้ เข้าใจบทบาทภาระหน้าที่ของตนเองในแต่ละกลุ่มได้อย่างสอดคล้อง เชื่อมโยงในระบบการดูแลอันจะส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ในชุมชนได้นานขึ้น ข้อเสนอแนะ การจัดเตรียมชุมชนเป็นกลยุทธ์หนึ่งของการพัฒนารูปแบบการจำหน่ายผู้ป่วยโรคจิตในกรณีที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อนกลับสู่ชุมชนที่ใช้ได้เหมาะสม ในบริบทของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งมีวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้ออำนวยให้สามารถดำเนินการในรูปแบบของเครือข่าย 3 เส้า คือญาติ / แกนนำชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ และทีมสุขภาพจิต จึงควรให้มีการพัฒนาคู่มือในการเตรียมชุมชนสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับสามารถนำไปใช้ได้

Keywords: รูปแบบการจำหน่าย, ผู้ป่วยโรคจิตที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อน, จิตเวชชุมชน, ผู้ป่วยจิตเวชยุ่งยากซ้ำซ้อน, ชุมชน, ครอบครัวผู้ป่วยจิตเวช, กลุ่มบำบัด, เตรียมชุมชน, พระศรีมหาโพธิ์, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ อุบลราชธานี

Code: 2006000161

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -

 

Preset Colors