02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: วรรณภา พลอยเกลื่อนและคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยจิตเวช โดยใช้โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพในศูนย์กิจกรรม โรงพยาบาลศรีธัญญา

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 70.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวช เป็นส่วนหนึ่งในงานสุขภาพจิตและจิตเวชที่มีวิธีการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยจิตเวชลดความบกพร่องให้น้อยที่สุด หรือหมดไปโดยเริ่มให้เร็วที่สุด การฝึกทักษะชีวิตในศูนย์กิจกรรมเป็นโปรแกรมสร้างเสริมทักษะพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่ใกล้เคียงกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป ซึ่งประกอบด้วย กิจกรรมการดูแลตนเอง กิจกรรมการทำงาน กิจกรรมนันทนาการ การดำเนินการสร้างเสริมทักษะพื้นฐานเหล่านี้ จำเป็นต้องดำเนินงานต่อเนื่องโดยทีมสหวิชาชีพ ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพื่อมุ่งหวังให้เขาเหล่านั้นกลับคืนชุมชนได้อย่างปกติสุข สอดคล้องกับความสามารถของผู้ป่วย สภาพแวดล้อมที่จะไปอยู่ และบทบาทที่เขาจะต้องทำเมื่อกลับสู่ชุมชน เพื่อพัฒนาโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชให้เหมาะสมจึงได้ติดตามผลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน วัตถุประสงค์ 1.เพื่อศึกษาผลของการใช้โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพในการฝึกผู้ป่วยทักษะชีวิตผู้ป่วยจิตเวชในศูนย์กิจกรรม โรงพยาบาลศรีธัญญา 2.เพื่อพัฒนารูปแบบ/กิจกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพในการฝึกผู้ป่วยทักษะชีวิตผู้ป่วยจิตเวชในศูนย์กิจกรรม โรงพยาบาลศรีธัญญา ขอบเขตของการวิจัย ศึกษาของการใช้โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้ป่วยจิตเวชทั้งภายในและภายนอกที่เข้ารับบริการในศูนย์กิจกรรม โรงพยาบาลศรีธัญญา ตั้งแต่ 1 มิ.ย. ถึง 30 เม.ย. 48 ระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง ชนิดเดียว วัดผลก่อนและหลังทดลอง (Quasi-experimental one group pre—post test design) จากกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับบริการ จำนวน 182 คน กลุ่มตัวอย่าง เลือกแบบเฉพาะเจาะจงในรายที่ได้รับการฝึกทักษะครบตามโปรแกรม ได้รับการประเมินตามขั้นตอนสามารถติดตามผลได้จำนวน 73 คน เครื่องมือที่ใช้คือ แบบประเมินผู้ป่วย ก่อน-หลังเข้ารับการฝึก แบบประเมินเลื่อนระดับ และแบบประเมินความพึงพอใจ เก็บรวบรวมข้อมูล นำไปวิเคราะห์ด้วยการแจกแจงความถี่ร้อยละ และเปรียบเทียบระดับความสามารถ ก่อน-หลัง โดยทดสอบค่า t-test และ F-test สรุปผลการวิจัย - ผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับการฝึกทักษะชีวิต มีระดับความสามารถอยู่ในขั้นสำรวจ 31 คน ขั้นฝึกความสามารถ 26 คน และขั้นสำเร็จบทบาท 16 คน - ผลการเปรียบเทียบระดับความสามารถในการดูแลตนเอง และเตรียมความพร้อมสู่ชุมชนก่อนและหลังฝึกทักษะแตกต่างกัน โดยหลังการฝึกมีระดับความสามารถดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 - การสอบถามความพึงพอใจพบว่าสมาชิกและผู้เกี่ยวข้อง มีความพึงพอใจส่วนใหญ่อยู่ในระดับมาก ข้อเสนอแนะ - รูปแบบ/กิจกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยต้องชัดเจนและต่อเนื่องได้รับการสนับสนุนจากบุคลากรสหวิชาชีพ และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย -การฟื้นฟูสมรรถภาพควรปรับเปลี่ยนเป็นการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนเห็นควรให้มีศูนย์กิจกรรมในชุมชน -มีการศึกษาติดตามผล ในผู้ป่วยที่ผ่านการฝึกทักษะในศูนย์กิจกรรมที่กลับสู่ชุมชน -ศึกษาแบ่งกลุ่มประเภทผู้ป่วยหรือโรค กับกิจกรรมบำบัดและระยะเวลาที่เหมาะสม

Keywords: ผู้ป่วยจิตเวช, การพัฒนาคุณภาพชีวิต, การฟื้นฟูสมรรถภาพ, สุขภาพจิต, กิจกรรม, ทักษะชีวิต, โรงพยาบาลศรีธัญญา, ศูนย์กิจกรรม, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: งานพัฒนารูปแบบการฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลศรีธัญญา

Code: 2006000153

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -

 

Preset Colors