02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: วิมลรัตน์ วันเพ็ญ

ชื่อเรื่อง/Title: การสำรวจสถานการณ์ปัญหาวัยรุ่นจากหนังสือพิมพ์.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 193.

รายละเอียด / Details:

วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังค้นหาความเป็นตัวของตัวเอง เชื่อกลุ่มเพื่อน มักตามกระแสบริโภคนิยม ในขณะที่สังคมปัจจุบันพ่อแม่ต้องทำงานนอกบ้าน เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ส่งผลให้วัยรุ่นรู้สึกโดดเดี่ยวไม่มีที่ปรึกษา จากสถิติการให้การปรึกษาปัญหาทางโทรศัพท์ พบว่าวัยรุ่นมารับบริการเป็นจำนวนร้อยละ 24.7 ดังนั้นสิ่งที่สำคัญอันดับแรกที่จะแก้ไขปัญหาวัยรุ่น คือ การให้สังคมตระหนักถึงปัญหาของวัยรุ่นว่าเป็นปัญหาที่สังคมควรช่วยกันดูแล โดยสื่อเป็นสิ่งที่สะท้อนเหตุการณ์ที่สังคมกำลังให้ความสนใจมีอิทธิพลต่อ ความคิด พฤติกรรมของคนในสังคมโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอปัญหาของวัยรุ่นเป็นจำนวนมาก จากที่กล่าวมานั้นการศึกษาในครั้งนี้ต้องการทราบจำนวนและขนาดปัญหาวัยรุ่นบนหน้าหนังสือพิมพ์ว่าจำนวนเท่าใด และมีรายละเอียดอย่างไร ดังนั้นสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์จึงสำรวจสถานการณ์ปัญหาวัยรุ่นจากหนังสือพิมพ์ เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการดำเนินงานส่งเสริม ป้องกันด้านสุขภาพจิตวัยรุ่นต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจสถานการณ์ปัญหาวัยรุ่นในปัจจุบันจากข่าวหนังสือพิมพ์ ขอบเขตการศึกษา ศึกษาจากข่าวที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประจำวัน จาก 20 สำนักพิมพ์ ระหว่าง วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึง 31 ธันวาคม 2547 ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยเพื่อสำรวจประมาณจำนวนข่าวที่เกี่ยวข้องวัยรุ่น อายุระหว่าง 12-25 ปี ใน 4 ด้าน คือ เพศ ความรุนแรง ฆ่าตัวตาย และยาเสพติด เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบเก็บข้อมูลจากข่าวหนังสือพิมพ์ จำแนกรายด้านทั้ง 4 ด้าน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการแจกแจงความถี่ จำนวนสัดส่วน ค่าเฉลี่ย และร้อยละ สรุปผลการวิจัย พบว่ามีจำนวนเหตุการณ์ 1,437 เหตุการณ์ (Event) เฉลี่ยวันละ 3.93 เหตุการณ์ จำนวน 1,844 ข่าวเฉลี่ยวันละ 5.05 ข่าว (Manifest) เรื่องที่เป็นเหตุการณ์ และถูกนำเสนอเป็นข่าวมากที่สุด คือ เรื่อง เพศ รองลงมาคือ เรื่องความรุนแรง ยาเสพติด การฆ่าตัวตาย ตามลำดับ แต่พบว่าที่สื่อให้ความสนใจจากสัดส่วนของเหตุการณ์ต่อการนำเสนอข่าว มากที่สุด คือข่าวฆ่าตัวตาย (1.5 เท่า) รองลงมาคือ ข่าวเรื่องเพศ (1.31เท่า) ยาเสพติด (1.25เท่า) และความรุนแรง (1.24เท่า) ตามลำดับ และพบว่า เพศชายเป็นผู้ก่อเหตุในเรื่อง ความรุนแรง เพศ และยาเสพติด มากกว่าผู้หญิง ส่วนเรื่องฆ่าตัวตายนั้น พบว่าใกล้เคียงกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพศหญิงเป็นผู้ได้รับผลกระทบในเรื่องเพศมากกว่าผู้ชาย แต่พบว่าใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและผู้ชายในด้านความรุนแรง ระดับการศึกษาของผู้ก่อเหตุเรื่องความรุนแรง พบว่าเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมากที่สุด และระดับการศึกษาของผู้ได้รับผลกระทบเรื่องเพศ พบว่าเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมากที่สุดซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 12-15 ปี ข้อเสนอแนะ 1.ข่าวที่สื่อให้ความสนใจนำเสนอ เช่น ข่าวฆ่าตัวตาย พบว่าความถี่ของปัญหาที่เกิดขึ้นจริงอาจเกิดไม่มาก ดังนั้นหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านสุขภาพจิตวัยรุ่นที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาให้ความสำคัญการดำเนินงานป้องกันกับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมเช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดมากแต่ข่าวให้ความสนใจนำเสนอสู่สังคมน้อย 2.สื่อที่นำเสนอข่าวที่เป็นปัญหาของวัยรุ่นต่อสังคมเป็นสิ่งที่ดีให้สังคมได้ตระหนักถึงปัญหา แต่ควรมีแนวทางแก้ไขเพื่อเสนอต่อสังคมต่อไปด้วย 3.ปัญหาเรื่องเพศเกิดกับบุคคลในช่วงมัธยมศึกษาตอนต้นมากที่สุด ฉะนั้นการให้ความรู้ และการปัองกันปัญหาเรื่องเพศ ต้องดำเนินการก่อนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วนปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงเกิดกับบุคคลในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. มากที่สุด ดังนั้นการฝึกควบคุมวินัย ความรุนแรงต้องดำเนินการก่อนช่วงวัยดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์สูงสุด

Keywords: วัยรุ่น, หนังสือพิมพ์, ครอบครัว, สังคม, สถานการณ์, ข่าว, พฤติกรรม, สุขภาพจิต, ความรุนแรง, ยาเสพติด, ฆ่าตัวตาย, ปัญหาวัยรุ่น

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

Code: 2006000131

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -

 

Preset Colors