02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: กัญนา ติษยาธิคม

ชื่อเรื่อง/Title: การวิเคราะห์และกำหนดอัตราเหมาจ่ายในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับปีงบประมาณ 2547

แหล่งที่มา/Source: รวมบทคัดย่อวารสารวิชาการสาธารณสุข ปีที่ 12, หน้า 333-334.

รายละเอียด / Details:

การจัดทำอัตราเหมาจ่ายรายหัวโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครั้งแรกในปีงบประมาณ 2545 คิดเป็น 1,202 บาทต่อคนต่อปี โดยใช้ฐานข้อมูลสองชุดคือ อัตราเจ็บป่วยและต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล การคำนวณครั้งที่สอง ในปีงบประมาณ 2546 ได้อัตราเหมาจ่ายเป็น 1,545 ในครั้งนี้ได้คำนวณอัตราเหมาจ่ายกรณีส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับบุคคล และนำข้อมูลต้นทุนค่ารักษาพยาบาลระดับตติยภูมิของของโรงพยาบาลเฉพาะทางและโรงพยาบาลเอกชนมาร่วมในการคำนวณด้วยการศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงวิธีการและฐานข้อมูลสำคัญสำหรับการประมาณการอัตราเหมาจ่าย ปีงบประมาณ 2547 และเสนอทางเลือกในการใช้ฐานข้อมูลเพื่อกำหนดอัตราเหมาจ่ายรายหัว การคำนวณอัตราเหมาจ่ายรายหัวปี 2547 ให้คงหลักการเหมือนปี 2546 คือ อัตราการเจ็บป่วยและต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่เป็นปัจจุบัน อัตราการเจ็บป่วยมีสองฐานข้อมูล คือ การสำรวจอนามัยและสวัสดิการ (สอส.) ปี 2544 และการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (สคส.) ปี 2545 ครึ่งปีแรกการวิเคราะห์พบว่า การเจ็บป่วยทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน กลุ่มที่ได้รับสิทธิประโยชน์ จากโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ สคส. 2545 ต่ำกว่า สอส. 2544 เท่ากับ 2.41 เท่า และ 1.21 เท่าตามลำดับ คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าควรใช้ข้อมูลอัตราการเจ็บป่วยจาก สอส. 2544 เนื่องจากมีความเชื่อมั่นต่อข้อมูล สอส. 2544 มากกว่า สคส. 2545 วิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยด้วยสองวิธีการ คือ วิธีหนึ่งการคำนวณแบบลัดจากข้อมูลรายงาน 0110 รง. 5 ปีงบประมาณ 2545 พบว่า ต้นทุนของโรงพยาบาลจังหวัดสูงกว่าปี 2544 ร้อยละ 11 ต้นทุนโรงพยาบาลชุมชนต่ำกว่าปี 2544 ร้อยละ 13 วิธีที่สองการปรับต้นทุนปี 2544 ด้วยอัตราเพิ่มของเงินเดือนและดัชนีราคาผู้บริโภค พบว่าต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 สำหรับสถานพยาบาลทุกระดับ เมื่อนำมาคำนวณอัตราเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยอัตราเหมาจ่ายของสิทธิประโยชน์อื่นๆ เท่ากับปี 2546 ส่วนค่าลงทุน (replacement cost) ให้ใช้สัดส่วนเดิมในปี 2546 คือร้อยละ 10 ของค่ารักษาพยาบาล ดังนั้น พบว่า อัตราเหมาจ่ายรายหัวจากการคำนวณต้นทุนทั้งสองวิธี เท่ากับ 1,472 และ 1,447 บาทต่อคนต่อปี ตามลำดับ คณะกรรมการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง พิจารณาให้ใช้อัตราเหมาจ่ายรายหัวที่ได้จากการคำนวณต้นทุนด้วยวิธีที่สอง ด้วยเหตุผลว่า ฐานข้อมูลรายงาน 0110 รง. 5 มีความจำเป็นต้องตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนเพราะมีการเปลี่ยนแปลงแบบบันทึกข้อมูล และความครอบคลุมของรายงานในปี 2545 ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสน และสร้างปัญหาของความน่าเชื่อถือของข้อมูล การปรับเพิ่มต้นทุนด้วยวิธีที่สองอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และมีแหล่งอ้างอิงที่ยอมรับได้ ดังนั้น อัตราเหมาจ่ายปี 2547 ตามหลักวิชาการควรเป็น 1,447 บาทต่อคนต่อปี การจัดทำอัตราเหมาจ่ายปี 2547 นั้น ใช้ สอส. 2544 ซึ่งเป็นอัตราป่วยและการใช้บริการก่อนมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเมื่อมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ประชาชนไทยจะสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยได้มากขึ้น อัตราการใช้บริการในสถานพยาบาลควรจะเพิ่มขึ้น

Keywords: ประกันสุขภาพ, ต้นทุนค่ารักษาพยาบาล, ฐานข้อมูลสุขภาพ, งบประมาณ, ต้นทุนต่อหน่วย, ค่ารักษาพยาบาล, บริหารจัดการ, การเงินการคลัง, อัตราเหมาจ่ายรายหัว,โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า,ปีงบประมาณ 2547

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โครงการเมธีวิจัยอาวุโสด้านวิจัยระบบและนโยบายสุขภาพ

Code: 20050000585

ISSN/ISBN: 974-506-393-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ วารสารวิชาการ

Download:

 

Preset Colors