02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: สาวิตรี แสงสว่าง, ประเทือง ลออสุวรรณ, อัญชลี ศรีสุวรรณ, กาญจนา สุดใจ

ชื่อเรื่อง/Title: ประสิทธิผลของโปรแกรมการเยี่ยมบ้านต่อระยะเวลาการอยู่บ้านของผู้ป่วยจิตเภทในกรุงเทพมหานคร

แหล่งที่มา/Source: วารสารสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา, ปีที่ 11, ฉบับที่ 1, 2560 หน้า 1.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมการเยี่ยมบ้านต่อระยะเวลาการอยู่บ้านของผู้ป่วยจิตเภทในกรุงเทพมหานคร
วัสดุและวิธีการ: เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (quasi-experimental research) แบบสองกลุ่มวัดผลก่อนและหลังการทดลอง (two group pretest-posttest design) กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยจิตเภทที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยในซ้ำภายใน 28 วัน ของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ระหว่างเดือนตุลาคม 2556-กันยายน 2557 คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงเข้ากลุ่มควบคุม 29 คน และกลุ่มทดลอง 27 คน โดยกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลหลังจำหน่ายตามปกติ และกลุ่มทดลองได้รับการดูแลหลังจำหน่ายด้วยโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้าน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ 1) โปรแกรมการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งพัฒนามาจากรูปแบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านของภัทราภรณ์ และคณะ ตามแนวคิดการพัฒนาทักษะของ Dreyfus and Dreyfus 2) แบบประเมินอาการทางจิต Brief Psychotic Rating Scale (BPRS) 3) แบบวัดคุณภาพชีวิตผู้ป่วยจิตเวช และ 4) แบบวัดภาระในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช เก็บรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และเปรียบเทียบความแตกต่างของระยะเวลาการอยู่บ้านได้ของผู้ป่วยกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมด้วยสถิติเชิงอนุมาน Unpaired t-test
ผล: ผู้ป่วยกลุ่มควบคุมมีค่าเฉลี่ยของระยะเวลาการอยู่บ้านเท่ากับ 126.41 วัน และกลุ่มทดลองเท่ากับ 233.78 วัน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มทดลองสามารถอยู่บ้านได้นานกว่ากลุ่มควบคุม 107.37 วัน ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.005) ผู้ป่วยมีอาการทางจิตสงบร้อยละ 74.07 และมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับสูง(X=2.87,SD=0.93) ผู้ดูแลผู้ป่วยมีความรู้สึกเป็นภาระในการดูแลผู้ป่วยอยู่ในระดับปานกลาง (X=46.28, SD=16.12)
สรุป: โปรแกรมการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านในกรุงเทพมหานคร เป็นการพัฒนาทักษะการดูแลผู้ป่วยจิตเภทให้กับผู้ป่วยและครอบครัว โดยให้ชุมชนและศูนย์บริการสาธารณสุขมีส่วนร่วม สามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ดูแลสามารถดูแลผู้ป่วยจิตเภทได้โดยไม่รู้สึกเป็นภาระมากเกินไป

Keywords: การเยี่ยมบ้าน, ผู้ป่วยจิตเภท, ระยะเวลาการอยู่บ้าน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2560

Address: พยาบาลวิชาชีพ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จ

Code: 2017000038

ISSN/ISBN: 1905-8586

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download:

 

Preset Colors