02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: ทิพย์วรรณ หอวิจิตร และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การใช้สารเสพติดของนักเรียนปรับสภาพ ปีการศึกษา 2540 วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 6 ,24-26 มิถุนายน 2541

รายละเอียด / Details:

ยาเสพติดเป็นปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อน มีผลเสียต่อผู้เสพ ทำให้ครอบครัวและสังคมอ่อนแอขาดความสุข ปัจจุบันปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่รุนแรงมีแนวโน้มของการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนในสถานศึกษา ซึ่งเป็นขุมกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาการใช้สารเสพติดของนักเรียนปรับสภาพ ปีการศึกษา 2540 วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย เพื่อนำผลการวิจัยมาใช้เป็นแนวทางในการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของเยาวชนในสถานศึกษา การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้สารเสพติดของนักเรียนปรับสภาพ ระดับชั้น ปวช.และปวส. ปีการศึกษา 2540 วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย ศึกษาประชากรทั้งหมดโดยไม่มีการสุ่มตัวอย่าง ได้แก่นักเรียนปรับสภาพชั้น ปวช. จำนวน 1,124 คน และนักเรียนปรับสภาพชั้น ปวส. จำนวน 359 คน วิธีการศึกษาเป็นการศึกษาเชิงสำรวจ เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม ซึ่งผู้ศึกษาได้สร้างขึ้นผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ และทดลองใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละผลการศึกษาพบว่านักเรียนปรับสภาพชั้น ปวช. และปวส. มีการใช้สารเสพติด ชนิดสุรา,เบียร์ เป็นอันดับหนึ่ง คือ ร้อยละ 75.89 และ 83.80 อันดับ 2 ได้แก่ บุหรี่ร้อยละ 64.59 และ 64.90 อันดับ 3 ได้แก่ยาบ้า ร้อยละ 30.52 และ 25.07 สารเสพติดชนิดแรกที่นักเรียนปรับสภาพใช้อันดับ 1 ได้แก่ สุรา เบียร์ ร้อยละ 53.58 และ 63.79 อันดับ 2 คือบุหรี่ ร้อยละ 40.24 และ 35.10 และอันดับต่อมาได้แก่ยาบ้าร้อยละ 5.99 และ 1.11 สาเหตุที่นักเรียนปรับสภาพใช้สารเสพติดอันดับ 1 ได้แก่ อยากทดลอง ร้อยละ 78.58 และ 77.16 อันดับต่อมาได้แก่เพื่อนชักชวน มีปัญหาคับข้องใจ และอื่นๆ เช่น เพื่อเข้าสังคม และเพื่อทำงาน จากการศึกษาครั้งนี้ พบว่า นักเรียนปรับสภาพส่วนใหญ่ใช้สารเสพติดเพราะความอยากลองและถูกเพื่อนชักชวน แม้ว่าสารเสพติดที่ใช้ส่วนใหญ่ในอันดับต้นๆ จะเป็นปัญหาสารเสพติดที่ไม่ผิดกฎหมาย ได้แก่ สุรา เบียร์ และบุหรี่ แต่ก็สามารถก่อให้เกิดโทษต่อผู้เสพ ต่อครอบครัวและสังคม รวมทั้งยังเป็นผลให้มีการทดลองใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ ที่มีอันตรายรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงควรมีการรณรงค์ และสร้างกระแสต่อต้านการใช้สารเสพติดในสถานศึกษา ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนได้ทราบถึงพิษภัยของสารเสพติด จัดกิจกรรมในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อต่อต้านสารเสพติดให้แก่นักเรียน และมีการติดตามการใช้สารเสพติดของนักเรียนอย่างต่อเนื่องต่อไป

Keywords: adolescence, adolescent, สารเสพติด, ระบาดวิทยา, ความชุก, นักเรียน, ยาเสพติด, โรงเรียน, วัยรุ่น

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลสุโขทัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200410006056

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -

 

Preset Colors