02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: สกาวรัตน์ พวงลัดดา

ชื่อเรื่อง/Title: การให้การปรึกษาทางอินเตอร์เน็ต: ความรู้จากประสบการณ์

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการสาธารณสุข ประจำปี 2547, ในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12, เมืองไทยสุขภาพดี วิถีพัฒนาที่มั่นยืน, ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต 24-27 สิงหาคม 2547, หน้า 122.

รายละเอียด / Details:

บทนำ การใช้อินเตอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนมากขึ้น ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยมีจำนวน 3.5 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โปรแกรมการสื่อสารเป็นโปรแกรมทางอินเตอร์เน็ตประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากช่วยให้ผู้ใช้ทั่วทุกมุมโลกมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งสนับสนุนให้กำลังใจกัน แต่มีการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่มี,ต่อการใช้โปรแกรมการสื่อสารจนถึงขั้นติด คือ ความรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง มีปัญหาในชีวิตสมรส มีความเครียดเกี่ยวกับเรื่องงานความรู้สึกเบื่อหน่าย ภาวะซึมเศร้า ปัญหาเศรษฐกิจ ความรู้สึกไม่มั่นคงเกี่ยวกับภาพลักษณ์และความวิตกกังวล แสดงให้เห็นว่าบุคคลกลุ่มนี้มีความเสี่ยงและปัญหาสุขภาพจิต ดังนั้น การให้การปรึกษาทางอินเตอร์เน็ตผ่านโปรแกรมการสื่อสารจึงน่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่เข้าถึงผู้รับบริการได้มากขึ้น เพราะสะดวก รวดเร็ว และเสียค่าใช้น้อยกว่าการเดินทางมารับการปรึกษาในสถานบริการ วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการให้การปรึกษาทางอินเตอร์เน็ต วิธีการศึกษา การศึกษาครั้งนี้เป็นแบบกรณีศึกษากลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ใช้ในโปรแกรมการติดต่อสื่อสาร 2 ชนิด คือ ICQ และ MSN จำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ บันทึกการสนทนาระหว่างผู้ให้การปรึกษากับผู้รับการปรึกษา วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษา การให้การปรึกษาทางอินเตอร์เน็ตสามารถดำเนินการได้ แต่พบว่ามีความเหมือนและความต่างจากการให้การปรึกษาในสถานบริการ และการให้การปรึกษาทางโทรศัพท์ดังนี้ 1) องค์ความรู้ในการให้การปรึกษา ประกอบด้วย กระบวนการให้การปรึกษา ความรู้ในเรื่องที่จะให้การปรึกษา และทักษะในการให้การปรึกษาคงใช้เหมือนกัน แต่วิธีการอาจแตกต่างกันออกไป เช่น ทักษะการสะท้อนความรู้สึก ผู้ให้การปรึกษาทางอินเตอร์เน็ตไม่สามารถได้ยินเสียงหรือสังเกตพฤติกรรมของผู้ให้การปรึกษาได้ ดังนั้น เพื่อให้รับรู้อารมณ์และความคิดของผู้รับการปรึกษาอย่างถูกต้อง ผู้ให้การปรึกษาจึงต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์เนื้อหาจากข้อความของผู้รับการปรึกษา ความเร็วของการส่งข้อความตอบกลับ และปริมาณเนื้อหาที่ส่งข้อความ มีบางทักษะที่ไม่ได้ใช้ เช่น ทักษะการฟัง ต้องเปลี่ยนเป็นทักษะการอ่านเพื่อจับใจความสำคัญจากบทสนทนาแทนการฟัง 2) ทักษะพิเศษ ที่ผู้ให้การปรึกษาทางอินเตอร์เน็ตต้องมี คือ ความสามารถในการใช้อินเตอร์เน็ต ความสามารถในการพิมพ์ดีด ความเข้าใจสัญลักษณ์ในการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต วิจารณ์และสรุป การให้การปรึกษาทางอินเตอร์เน็ต มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เพราะมีผู้รับบริการเป็นจำนวนมาก ผู้ที่ปฏิบัติด้านให้การปรึกษาอยู่แล้วสามารถปฏิบัติงานได้ โดยเพิ่มทักษะพิเศษเพียงเล็กน้อยสำหรับหน่วยงานที่จะให้บริการปรึกษาทางอินเตอร์เน็ต การเปิดดำเนินการควรเป็นห้องปรึกษา เช่น ห้องเพื่อนใจวัยรุ่น ห้องครองรักครองเรือน เป็นต้น เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเลือกใช้บริการที่ตรงกับปัญหาของตนเอง และเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สนับสนุนให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตได้มีโอกาสเข้าถึงบริการและแก้ไขปัญหาตั้งแต่แรกเริ่ม

Keywords: ความเครียด, ภาวะซึมเศร้า, เบื่อหน่าย, สุขภาพจิต, ความวิตกกังวล, อินเตอร์เน็ต, การสื่อสาร, ให้การปรึกษา, ปรึกษา, ปัญหาสุขภาพจิต, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, การปรึกษาทางอินเตอร์เน็ต, counseling

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 20040000246

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12 .

Download: -

 

Preset Colors