02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: สมพร รุ่งเรืองกลกิจ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: แบบแผนความคิดทางลบของผู้ป่วยที่มีอารมณ์ซึมเศร้า

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 3, 25-27 สิงหาคม 2547 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 375.

รายละเอียด / Details:

อุบัติการณ์ของการเกิดอารมณ์ซึมเศร้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั้งในกลุ่มบุคคลทั่วไปและในผู้ป่วยเรื้อรังที่เจ็บป่วยทางกาย Beck มีความเชื่อว่าผู้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของกระบวนการคิดที่บิดเบือนไม่เป็นเหตุผลตามความเป็นจริง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณา (Descriptive Research) มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายแบบแผนการคิดที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้า กลุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นบันทึกการสนทนาการให้การปรึกษาที่ได้จากการถอดเทปการให้คำปรึกษา จำนวน 19 ม้วนเทป จากจำนวนผู้ป่วย 19 คน เป็นผู้ป่วยที่มีอารมณ์ซึมเศร้าที่รับการปรึกษาที่คลินิกให้การปรึกษา โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จำนวน 10 คน ผู้ป่วยที่มีอารมณ์ซึมเศร้าในแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 4 คน และผู้ป่วยโรคเรื้อรังจากการเจ็บป่วยทางกาย ที่พักรักษาตัว ณ หอผู้ป่วยฟื้นฟู โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยแบบประเมินระดับความรุนแรงของภาวะซึมเศร้า Thai Depression Inventory ของมาโนช หล่อตระกูล และปราโมทย์ สุคนิชย์ และแบบวิเคราะห์ แบบแผนความคิดทางลบขอบ Beck คื 1) แบบแผนความคิดทางลบต่อตนเอง 2) แบบแผนความคิดทางลบต่อโลก 3) แบบแผนความคิดทางลบต่ออนาคต การเก็บรวบรวมข้อมูล โดยถอดเทปบันทึกการสนทนาที่ให้การปรึกษาแบบคำต่อคำ ผู้วิจัย (2 คน) อ่านบันทึกการสนทนาที่ได้จากการถอดเทปการให้การปรึกษาอย่างเป็นอิสระต่อกัน คือ บันทึกการสนทนา 1 ชุด อ่าน 2 คน หากแบบแผนใดที่ได้ข้อสรุปไม่ตรงกันจะมีการพูดคุยหาข้อตกลงร่วมกับหัวหน้าวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) หาความถี่และร้อยละ ผลการศึกษา พบว่าผู้ที่มีอารมณ์เศร้ามีแบบแผนความคิดทางลบตามที่ Beck กล่าวไว้ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมีแบบเผนความคิดทางลบต่อตนเองเป็นจำนวนสูงสุดคือร้อยละ 57.89 รองลงมาคือ แบบแผนความคิดทางลบต่อโลกคือ ร้อยละ 31.58 แบบแผนความคิดทางลบต่ออนาคตน้อยที่สุด ร้อยละ 10.53 เมื่อพิจารณารายละเอียดลักษณะของแบบแผนความคิด พบว่า ผู้ป่วยมีแบบแผนความคิดในทางร้ายๆ เกินความจริง เป็นจำนวนสูงสุดคือร้อยละ 35.09 รองลงมาคือ การสรุปตามความคิดตน ร้อยละ 18.42

Keywords: จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: ภาควิชาการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Code: 20040000135

ISSN/ISBN: -

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2547

Download: -

 

Preset Colors