02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: ขนิษฐา นาคะ, ประสบสุข อินทรักษา

ชื่อเรื่อง/Title: ความเครียดและการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยผู้ใหญ่ในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์

แหล่งที่มา/Source: วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2536, 14-24

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย เพื่อศึกษาความเครียด การเผชิญความเครียดและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับวิธีการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เข้าพักรักษาตัวในแผนกศัลยกรรม อายุรกรรมและสูติกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กลุ่มตัวอย่างได้จากการเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 201 ราย ความเครียดวัดโดย แบบประเมินความวิตกกังวลขณะเผชิญ ของสไปล์เบอร์เกอร์และคณะ (Spielberger et al, 1970) การเผชิญความเครียดวัดโดยแบบสอบถามปลายเปิดที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามกรอบแนวคิดของลาซารัสและฟอล์ดแมน (Lazarus & Foldman, 1984) ซึ่งมี 4 วิธี คือ 1. การแสวงหาข้อมูล 2. การกระทำโดยตรง 3. การไม่กระทำใดๆ และ 4. การใช้กลไกทางจิต วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ร้อยละ ไคสแควร์ และสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวน ผลการวิจัยพบว่าคะแนนความเครียดมีค่าระหว่าง 20-75 คะแนน โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย = 41.5, SD = 10.4) กลุ่มตัวอย่างแผนกศัลยกรรมและอายุรกรรมมีคะแนนความเครียดเฉลี่ยมากกว่าแผนกสูติกรรมอย่างมีนัยสำคัญ (P‹.001) ส่วนการเผชิญความเครียด กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเผชิญความเครียดโดยวิธีการกระทำโดยตรงมากเป็นอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 66.2) รองลงมาคือการใช้กลไกทางจิต การแสวงหาข้อมูล และการไม่กระทำใดๆ คิดเป็นร้อยละ 50.7, 21.4 และ 7.5 ตามลำดับ เมื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการเผชิญความเครียดทั้ง 4 วิธี กับเพศ อายุ ระดับการศึกษา ปัญหาค่าใช้จ่ายในการเจ็บป่วย ประสบการณ์การเจ็บป่วย ความรุนแรงของการเจ็บป่วย ระดับความเครียดและแผนกผู้ป่วย พบว่า 1. การแสวงหาข้อมูล : เพศและแผนกผู้ป่วยมีความสัมพันธ์กับการใช้วิธีการแสวงหาข้อมูลอย่างมีนัยสำคัญโดยพบว่า เพศหญิงใช้วิธีการแสวงหาข้อมูลมากกว่าเพศชาย (P<.001) ผู้ป่วยแผนกสูติกรรมใช้วิธีการแสวงหาข้อมูลมากกว่าผู้ป่วยแผนกอายุรกรรมและศัลยกรรม (P<0.1 และ .001 ตามลำดับ) และผู้ป่วยแผนกอายุรกรรมใช้วิธีการแสวงหาข้อมูลมากกว่าผู้ป่วยศัลยกรรม (P<0.5) 2. การกระทำโดยตรง : เพศ อายุ และแผนกผู้ป่วยมีความสัมพันธ์กับการใช้วิธีการกระทำโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่า เพศชายใช้วิธีการกระทำโดยตรงมากกว่าเพศหญิง (P<.05) กลุ่มอายุ 41-60 ปี ใช้วิธีการกระทำโดยตรงมากกว่ากลุ่มอายุ 21-40 ปี (P<.001) และผู้ป่วยแผนกศัลยกรรมและอายุรกรรมใช้วิธีการกระทำโดยตรงมากกว่าแผนกสูติกรรม (P<.01) 3. การไม่กระทำใดๆ : มีความสัมพันธ์กับตัวแปรที่ศึกษาอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4. การใช้กลไกทางจิต : อายุและแผนกผู้ป่วยมีความสัมพันธ์กับการใช้กลไกทางจิตอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่ากลุ่มอายุ 21-40 ปี ใช้กลไกทางจิตมากกว่ากลุ่มอายุ 41-80 ปี (P<.01) และผู้ป่วยแผนกอายุรกรรมและสูติกรรมใช้กลไกทางจิตมากกว่าแผนกศัลยกรรม (P<.001)

Keywords: mental health, stress, coping stress, สุขภาพจิต, การเผชิญความเครียด, ความเครียด, เครียด, การพยาบาลจิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2536

Address: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 126361302002

ISSN/ISBN: 0125-8958

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -

 

Preset Colors