02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: ศิริชัย ดาริกานนท์

ชื่อเรื่อง/Title: การสำรวจคุณภาพชีวิต และความคิดอยากฆ่าตัวตาย ของผู้ติดเชื้อ HIV

แหล่งที่มา/Source: วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ปีที่ 5 ฉบับที่ 3 มิถุนายน - กันยายน 2541 หน้า 25-57

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจคุณภาพชีวิตและความคิดอยากฆ่าตัวตายรวมทั้งหาปัจจัยที่สัมพันธ์กับระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV ในจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยแล้วว่าติดเชื้อ HIV ที่ยังไม่แสดงอาการของโรคเอดส์จำนวน 156 คน ได้จากการสุ่มจากกลุ่มหรือชมรม ต่าง ๆ ของผู้ติดเชื้อตามชุมชนในเขตจังหวัดเชียงใหม่และตามโรงพยาบาลที่ผู้ติดเชื้อไปใช้บริการ กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 29.9 ปี เป็นชาย 31.4% เป็นหญิง 68.6% ส่วนใหญ่ (74.4%) มีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา และ 89.8% มีรายได้ไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถามข้อมูลพื้นฐาน, แบบสำรวจความคิดอยากฆ่าตัวตายที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น และเครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลก ชุด 26 ตัวชี้วัด ผลจากการสำรวจพบว่า ผู้ติดเชื้อ HIV มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย 18.6% โดยในกลุ่มที่คิดจะฆ่าตัวตายนั้น 75.9% แค่คิดเฉย ๆ ยังไม่ได้ดำเนินการอะไร วิธีการฆ่าตัวตายที่เลือกใช้กันมากที่สุดคือ การกินยา สำหรับการสำรวจคุณภาพชีวิตนั้น พบว่า คุณภาพชีวิต โดยรวมแล้ว 75.7% มีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลาง และ 12.8% มีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับที่ดี เมื่อแยกศึกษาเป็นแต่ละองค์ประกอบแล้วพบว่า องค์ประกอบในด้านสัมพันธภาพทางสังคมจะมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับต่ำมากที่สุด (34.0% ของกลุ่มตัวอย่าง) ผลการศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับระดับคุณภาพชีวิต พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อระดับคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อมีดังนี้ สถานภาพสมรส คนที่หย่าร้างมีแนวโน้มที่จะมีคุณภาพชีวิตในระดับต่ำได้มากกว่า, สถานภาพทางการเงินที่ไม่พอใช้จ่าย และครอบครัวที่มีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก จะทำให้คุณภาพชีวิตมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่แย่ลง นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ติดเชื้อที่มีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับสุขภาพร่างกายและด้านจิตใจ มีโอกาสที่จะเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตายได้สูง (p‹0.05) จากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อควรเน้นด้านสัมพันธภาพทางสังคมเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบต่าง ๆ ของคุณภาพชีวิตเป็นสิ่งที่แยกจากกันได้ยาก จำเป็นต้องพิจารณาดำเนินการไปพร้อมกัน ประการสำคัญคือการพัฒนาสัมพันธภาพทางสังคมเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้โดยใช้งบประมาณน้อย และสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในชุมชน ผู้วิจัยเชื่อว่าหากคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อดีขึ้น โดยเฉพาะองค์ประกอบในด้านสุขภาพร่างกาย และด้านจิตใจดีขึ้นแล้ว ความคิดอยากฆ่าตัวตายจะลดลงไปได้

Keywords: AIDS, HIV, psychiatry, suicide, การฆ่าตัวตาย, คุณภาพชีวิต, ฆ่าตัวตาย, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, โรคเอดส์, เอดส์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตชัยนาท

Code: 104410503007

ISSN/ISBN: 2559-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: Download รายงานวิจัย คลิกได้ที่นี่ค่ะ PDF Format 3.04MB

 

Preset Colors