02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ร่วมกับองค์การพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการสาธารณสุข (PATH)

ชื่อเรื่อง/Title: ผลกระทบทางใจของผู้ดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์ในครอบครัว

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544. หน้า 79

รายละเอียด / Details:

โครงการศึกษาหารูปแบบการดูแลผู้มีอาการแทรกซ้อนจากการติดเชื้อเอดส์ในระดับชุมชน จังหวัดลำปาง มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อให้ดีขึ้น โดยการพัฒนาศักยภาพครอบครัวและชุมชนในการดูแลผุ้ติดเชื้อเอดส์ และมีจุดเน้นที่การพัฒนาทักษะการดูแลสุขภาพผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ให้กับผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก โครงการได้จัดหลักสูตรอบรมแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะการดูแลสุขภาพผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ทั้งทางด้านกายและใจให้กับผู้ดูแล ในรูปแบบของกิจกรรมได้แก่ แบ่งกลุ่มแสดงความคิดเห็นกรณีศึกษา ฝึกปฏิบัติ บทบาทสมมติ วีดิทัศน์ และอภิปราย การอบรมทักษะในการดูแลทางกายได้เน้นให้ญาติมีมีทัศนคติที่ดีในการดูแลผู้ติดเชื้อ แก้ปัญหาความกังวลเรื่องการติดไม่ติดเชื้อจากการอยู่ร่วมกัน และแนวทางการดูแลอาการเบื้องต้นที่มักเกิดกับผู้ติดเชื้อ ประกอบกับการใช้คู่มือการดูแลทางกายและใจ หลังการอบรมได้มีการติดตามเยี่ยมบ้านพบว่า ภาระการดูแล ผู้ติดเชื้อทำให้ผู้ดูแลเกิดความเครียดและกังวลต่อผลที่จะตามมา ทำให้เกิดปัญหาด้านจิตใจและอารมณ์ ดังนั้นในการจัดอบรมทักษะในการดูแลเรื่องใจ นอกจากเน้นให้ผู้ดูแลวิเคราะห์แยกแยะภาวะอารมณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อได้บ่อย และแนวทางการจัดการกับภาวะอารมณ์นั้นแล้ว ยังให้ผู้ดูแลได้ระบายความรู้สึกและปัญหาที่เกิดจากการดูแลผู้ติดเชื้อด้วย หลังการอบรมได้มีการติดตามผู้ดูแลที่บ้าน ผลจากการจัดการอบรมและการติดตามเยี่ยมบ้าน พบว่า สมาชิกในครอบครัวที่ดูแลผู้ติดเชื้อเป้นพ่อ แม่ พี่น้อง ภรรยาหรือสามี ปัญหาทางใจของผู้ดูแลอันเนื่องมาจากการดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์/ผู้ป่วยเอดส์ มีทั้งความรู้สึกเสียใจที่ญาติตนเองติดเชื้อเอดส์เกิดความรู้สึกสงสารผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพ่อกับแม่ที่ต้องดูแลลูกที่ติดเชื้อ ซึ่งเป็นภาระที่หนักมาก เพราะตนเองก็มีอายุมากแล้ว นอกจากนี้ผู้ดูแลยังเกิดความรู้สึกกังวลใจ เพราะต้องเผชิญปับปัญหาหลายเรื่อง อาทิ ปัญหาสุขภาพ ที่เกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อ กลัวว่าผู้ติดเชื้อจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน การติดต่อเชื้อจากการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน และปัญหาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ดูแลจะต้องรับภาระดูแลทั้งผู้ติดเชื้อและลูก รวมทั้งการรับเลี้ยงดูลูกของผู้ติดเชื้อเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งดูจะเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ดูแลเพราะผู้ดูแลเกือบทุกรายมีภาระครอบครัวของตนเองที่ต้องดูแลรับผิดชอบอยู่แล้ว ดังนั้น กิจกรรมที่ให้ผู้ดูแลได้ระบายความรู้สึกที่ต้องรับภาระดูแลผู้ติดเชื้อจึงเป็นสิ่งที่ผู้ดูแลได้สะท้อนว่ามีประโยชน์เพราะปัญหาของตนมีผู้รับฟังและเข้าใจ ได้พบกับเพี่อนที่เผชิญกับปัญหาแบบเดียวกัน และได้พูดระบายปัญหาทำให้ตนรู้สึกดีขึ้นและสบายใจมากขึ้น จากการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อด้วยการเน้นการพัฒนาทักษะการดูแลสุขภาพแก่ผุ้ดูแลนั้น อาจไม่เพียงพอหากผู้ดูแลไม่ได้รับการคลี่คลายปัญหาทางใจการพัฒนาคุณภาพของชีวิตของผู้ติดเชื้อเอดส์ จึงหมายถึงการดูแลผู้ดูแล (Caring for carer) เพื่อเตรียมจิตใจให้พร้อมดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์และภาระเลี้ยงดูลูกผู้ติดเชื้อได้ในอนาคต จึงควรจัดทำกลุ่มสบับสนุน (Group Support) ให้แก่ผู้ดูแลเพื่อเสริมคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อเอดส์

Keywords: สุขภาพจิต, ผลกระทบทางใจ, ผู้ดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์, ครอบครัว, ผู้ติดเชื้อเอดส์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: กรมสุขภาพจิต,กระทรวงสาธารณสุข

Code: 00008

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -

 

Preset Colors