02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: นางสุชาดา หุณฑสาร

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยทางจิตสังคมของโรคจิตที่เกิดร่วมกับการใช้ยาบ้าของผู้ป่วยในโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 85 (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

ยาบ้ามีการแพร่ระบาดทั่วประเทศและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาหนึ่งของการเสพยาบ้าคือการป่วยเป็นโรคจิตที่เกิดร่วมกับการใช้ยาบ้า จึงทำการศึกษาเพื่อหาข้อมูลเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิธีการป้องกันการเสพยาบ้าในระยะแรก (Primary Prevention) ต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยทางจิตสังคมของโรคจิตที่เกิดร่วมกับการใช้ยาบ้า ขอบเขตการวิจัย ผู้ป่วยโรคจิตที่เกิดร่วมกับการใช้ยาบ้าที่มารับการรักษา ณ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ระเบียบวิธีวิจัย ขนาดกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 290 คน เก็บข้อมูลจากผู้ป่วยทุกรายโดยไม่มีการสุ่มตัวอย่าง ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ข้อมูลทั่วไป อาการของโรคจิตจากแบบประเมิน BPRS งานและเศรษฐกิจ การใช้ยาเสพติด สภาพครอบครัว การศึกษา กลุ่มเพื่อน ข้อมูลด้านกฎหมาย สภาพแวดล้อมและที่พัก เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลคือแบบประเมินอาการโรคจิต แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคลและลักษณะการเสพยาเสพติด และแบบสัมภาษณ์ข้อมูลทางจิตสังคม เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ เมื่อ BPRS ‹30 คะแนน สถิติที่ใช้ประกอบด้วย ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าฐานนิยม ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด และเปรียบเทียบความแตกต่างโดยใช้ Chi-Square Test, Fisher’s Exact Test และ Unpaired Test ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดใช้โปรแกรม SPSS PC+ ผลการวิจัย พบว่าผู้ป่วยโรคจิตที่เกิดร่วมกับการใช้ยาบ้าจำนวน 290 คน เป็นเพศชาย 202 คน และเพศหญิง 88 คน ผู้ป่วยเริ่มเสพยาบ้าเมื่ออายุเฉลี่ย 20.02+-6.51 ปี (อายุต่ำสุดคือ 10 ปี และอายุสูงสุดคือ 46 ปี) ผู้ป่วยเพศชายเริ่มเสพยาบ้าเมื่ออายุเฉลี่ย 20.61+-7.21 ปี เพศหญิง เริ่มเสพยาบ้าเมื่ออายุ 18.68+-4.28 ปี ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ผู้ป่วยเพศชายเสพยาบ้ามานานเฉลี่ย 5.46+-3.42 ปี ผู้ป่วยเพศหญิงเสพยาบ้ามานานเฉลี่ย 4.38+-2.31 ปี ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) อาการที่พบว่ามีระดับรุนแรงจากการใช้แบบประเมิน BPRS พบว่ามี Auditory Hallucination ร้อยละ 95.2 และ Conceptual Disorganization ร้อยละ 88.6 หลังจากได้รับการรักษา ผู้ป่วยร้อยละ 75.17 อาการทุเลาลงในสัปดาห์ที่ 1 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เสพยาบ้าด้วยวิธีสูบควันร้อยละ 96.2 เหตุผลในการเสพยาบ้าของผู้ป่วยส่วนใหญ่คือ อยากลอง ร้อยละ 57.2 ผู้ป่วยร้อยละ 74.8 มีความสัมพันธ์ในครอบครัวแบบทะเลาะกันบ้าง แต่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยร้อยละ 44.5 ได้รับการเลี้ยงดูแบบทะนุถนอมตามใจ ร้อยละ 29 มีญาติป่วยเป็นโรคจิต และร้อยละ 83 มีเพื่อนสนิทเสพยาบ้า การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยทางจิตสังคมของผู้ป่วยเพศชายเพศหญิงพบว่า ปัจจัยต่างๆนั้นไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ข้อเสนอแนะ ควรนำลักษณะทางจิตสังคมดังกล่าวไปเป็นแนวทางในการติดตามป้องกันการเสพยาบ้าของเยาวชนในสถานศึกษา สังคม ชุมชน และครอบครัวอย่างจริงจัง

Keywords: ปัจจัยทางจิตสังคม, ยาบ้า, โรคจิต, จิตเวช, สารเสพติด, ยาเสพติด, จิตเวช, amphetamine, psychiatry, psychosis

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

Code: 0000007

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -

 

Preset Colors