02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: ชุลีพร ชูวงศ์

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการสื่อสารของผู้ป่วยโรคจิตเภท และสมาชิกในครอบครัว ที่มารับบริการ ณ แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสวนสราญรมย์

แหล่งที่มา/Source: วารสารพยาบาลศาสตร์, ปีที่ 21, ฉบับที่ 2, พฤษภาคม-สิงหาคม 2546, หน้า 46-58.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ในการดูแลตนเองที่บ้านของผู้ป่วยจิตเภท ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านของสมาชิกในครอบครัว เจตคติเกี่ยวกับการเจ็บป่วยทางจิตเวช พฤติกรรมการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยจิตเภทกับสมาชิกในครอบครัว และศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการสื่อสารของผู้ป่วยจิตเภทและสมาชิกในครอบครัว กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยจิตเภทและสมาชิกในครอบครัวที่มาพบแพทย์ หรือมารับยาต่อเนื่อง ณ ตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จำนวน 300 ครอบครัว (ผู้ป่วย 300 คน : สมาชิกในครอบครัว 300 คน) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามเจตคติเกี่ยวกับการเจ็บป่วยทางจิตเวช แบบสอบถามการดูแลตนเองที่บ้านของผู้ป่วยจิตเภท แบบสอบถามความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน แบบสอบถามพฤติกรรมการสื่อสารในครอบครัว วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การแจกแจงความถี่ คำนวณร้อยละ และหาค่าการถดถอยพหุแบบมีขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยจิตเภทมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองอยู่ในระดับปานกลางเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 40.4 ส่วนใหญ่มีเจตคติเกี่ยวกับการเจ็บป่วยทางจิตเวชอยู่ในระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ 58.7 มีพฤติกรรมการสื่อสารอยู่ในครอบครัวระดับไม่ดี คิดเป็นร้อยละ 52.0 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการสื่อสารในครอบครัว ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองที่บ้าน จำนวนครั้งที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล สถานภาพสมรสคู่ และการประกอบอาชีพอิสระ ร่วมกันอธิบายความผันแปรของพฤติกรรมการสื่อสารได้ร้อยละ 13 มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนสมาชิกในครอบครัวผู้ป่วยจิตเภทส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านอยู่ในระดับดีคิดเป็นร้อยละ 55.0 มีเจตคติเกี่ยวกับการเจ็บป่วยทางจิตเวชอยู่ในระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ 59 มีพฤติกรรมการสื่อสารในครอบครัวอยู่ในระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ 76.3 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการสื่อสาร ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน เจตคติเกี่ยวกับการเจ็บป่วยทางจิตเวช และการอบรมเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน ร่วมกันอธิบายความผันแปรของพฤติกรรมการสื่อสารได้ร้อยละ 17 มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 การวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่า พยาบาลควรจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน และฝึกทักษะพร้อมกับแจกคู่มือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในครอบครัวให้แก่ผู้ป่วยจิตเภท และสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนและคงไว้ซึ่งความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน ทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และควรติดตามศึกษาในกลุ่มตัวอย่างอื่นต่อไป

Keywords: พฤติกรรมการสื่อสาร, ผู้ป่วยจิตเภท, สมาชิกในครอบครัวผู้ป่วยจิตเภท, จิตเวช, โรคจิต, ผู้ป่วยจิตเวช, จิตเภท

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

Code: 460000206

ISSN/ISBN: 0125-8885

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -

 

Preset Colors