02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: ประภาวดี เหล่าพูลสุข

ชื่อเรื่อง/Title: ปัญหาการปรับตัวและสุขภาพจิตของนิสิตชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง ปัญหาการปรับตัวและสุขภาพจิตของนิสิตชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี, พ.ศ.2538

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่อง “ปัญหาการปรับตัวและสุขภาพจิตของนิสิตชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัญหาการปรับตัวและสุขภาพจิตโดยทั่วไปของนิสิต เปรียบเทียบปัญหาการปรับตัวและสุขภาพจิตของนิสิตในแต่ละคณะ รวมทั้งศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดปัญหาการปรับตัวและสุขภาพจิตของนิสิตด้วย กลุ่มประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 ที่ลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2538 จำนวน 300 คน ซึ่งผู้ศึกษาสามารถเก็บข้อมูลได้ทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 100 ของประชากร โดยผู้ศึกษาได้ใช้แบบสอบถามชุดข้อมูลทั่วไป แบบสำรวจปัญหาการปรับตัวชุดมูนนีย์ (Mooney Problem Check list) ซึ่งแบ่งปัญหาการปรับตัวออกเป็น 11 ด้าน และแบบประเมินสุขภาพจิต เอส-ซี-แอล 90 (SCL-90) เป็นเครื่องมือในการศึกษา ผู้ศึกษาได้ใช้เวลาเก็บแบบสอบถามประมาณ 1 สัปดาห์ ได้รับแบบสอบถามคืนทั้งหมด นำข้อมูลที่ได้มาหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และทดสอบความแตกต่างโดยวิธีของเชฟเฟ (Scheffe Range Test) สรุป ผลการศึกษาได้ดังนี้ 1. นิสิตชั้นปีที่ 1 โดยทั่วไปมีปัญหาสุขภาพจิตทางด้านย้ำคิด ย้ำทำ ด้านความรู้สึกไม่ชอบติดต่อกับคนอื่น ด้านซึมเศร้า ด้านความก้าวร้าว ชอบทำลาย ด้านความหวาดกลัว โดยไม่มีเหตุผล ด้านความหวาดระแวง และด้านอาการทางจิต 2. นิสิตชั้นปีที่ 1 โดยทั่วไป มีปัญหาการปรับตัวทางด้านการเรียนมาก มีปัญหาการปรับตัวด้านอนาคตอาชีพและการศึกษาด้านหลักสูตรและการสอน ด้านกิจกรรมทางสังคมและนันทนาการ ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม ด้านศีลธรรมจรรยาและศาสนา ด้านอารมณ์และส่วนตัวมีปัญหาในระดับปานกลาง และมีปัญหาด้านสุขภาพร่างกาย และ พัฒนาการทางร่างกาย ปัญหาทางเพศ ด้านการเงิน และที่อยู่อาศัยและด้านบ้านและครอบครัว มีปัญหาในระดับเล็กน้อย 3. นิสิตชั้นปีที่ 1 ที่ศึกษาในคณะต่างกันมีสุขภาพจิตไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 4. นิสิตชั้นปีที่ 1 ที่ศึกษาในคณะต่างกัน มีปัญหาการปรับตัวไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ยกเว้นปัญหาการปรับตัวด้านอนาคต อาชีพและการศึกษาและด้านเรียน ซึ่งนิสิตในแต่ละคณะมีปัญหาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ 0.05 5. ปัจจัยทางด้านส่วนตัวและสังคม คือ เพศ คณะวิชาที่ศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจสภาพที่อยู่อาศัย สภาพครอบครัว และความสัมพันธ์กับครอบครัว มีผลต่อการเกิดปัญหาการปรับตัวและสุขภาพจิตของนิสิต จากผลการศึกษา ผู้ศึกษาขอเสนอแนะแนวทางให้แก่มหาวิทยาลัย ดังนี้ 1. ด้านบริหารปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มปริมาณของบุคลากร และเจ้าหน้าที่ของ มหาวิทยาลัย ให้พอเพียงต่อความต้องการในการพัฒนามหาวิทยาลัย และให้บริการแก่นิสิต 2. ด้านบริการ ควรมีการจัดตั้งศูนย์บริการด้านสุขภาพจิต เพื่อให้บริการแก่นิสิตในอันที่จะป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู พัฒนาให้นิสิตมีสุขภาพจิตที่ดี อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ 3. มหาวิทยาลัย ควรปรับปรุงและเพิ่มบริการทางด้านสาธารณูปโภคให้แก่นิสิตให้มากขึ้น ควรมีบริการแนะแนวทางในการประกอบอาชีพ และดำเนินชีวิตในอนาคต 4. มหาวิทยาลัยควรจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนความสามัคคีและกระตุ้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในหมู่นิสิต ให้มีความรักในสถาบันการศึกษาของตน รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งยังเป็นการสร้างสรรค์สังคมอีกทางหนึ่งด้วย 5. กิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ควรมีการประสานงานกันอย่างดีและมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นิสิตทุกคน 6. บุคลากรทุกฝ่ายในมหาวิทยาลัย ควรมีความเข้าใจและใกล้ชิดกับนิสิตให้มากขึ้น เพื่อให้นิสิตเกิดความอบอุ่นและปลอดภัย

Keywords: ปรับตัว, การปรับตัว

ปีที่เผยแพร่/Year: 2538

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372380000048

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -

 

Preset Colors