02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: รัตนา ศิริพานิช

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพจิตของนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2531

รายละเอียด / Details:

จุดประสงค์ในการวิจัยเรื่อง “การศึกษาสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพจิตของนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต” นี้ทำขึ้นเพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพจิตของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2530 ที่ศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่าจะมีปัญหาในการปรับตัวอย่างไรบ้าง ในด้านการเรียนการสอน ความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์และความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับเพื่อน โดยพิจารณาในรายละเอียดถึงข้อมูลส่วนตัวบางอย่างที่อาจจะมีผลถึงปัญหาในการปรับตัว ได้แก่ เพศ คณะวิชาที่สังกัด อาชีพบิดา อาชีพมารดา รายได้ของบิดา-มารดาหรือรายได้ของครอบครัว ภูมิลำเนาและที่พักขณะศึกษาอยู่ที่ มธ. ศูนย์รังสิต เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถามซึ่งมีลักษณะเป็นมาตรประเมินค่า (Rating Scale) โดยมีข้อคำถาม 96 ข้อ ครอบคลุมปัญหาในการปรับตัวของนักศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 3 ด้านคือ ด้านการเรียนการสอน ด้านความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์และด้านความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับเพื่อน แบบสอบถามดังกล่าวมีค่าความเชื่อมั่น (Reliability) เท่ากับ .97 และมีความเที่ยงตรง (Validity) แบบ Face Validity คือผู้สร้างแบบสอบถามได้นำแบบสอบถามไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิทางจิตวิทยาและสุขภาพจิต จำนวน 10 คน พิจารณาว่าข้อความที่ถามแต่ละข้อทั้ง 96 ข้อ สามารถวัดได้ตรงตามคุณลักษณะที่ต้องการวัด โดยถือเกณฑ์ความเห็นที่ตรงกันของผู้ทรงคุณวุฒิ 75% ขึ้นไป กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ได้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2530 จำนวน 563 คน จากทุกคณะวิชาได้แก่ นิติศาสตร์ พาณิชยศาสต์และการบัญชี รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ วารสารศาสตร์และสื่อมวลชน สังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ศิลปศาสตร์และวิทยาศาสต์และเทคโนโลยี นักศึกษาเหล่านี้กำลังศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ด้านการเรียนการสอน มีข้อคำถามที่ถามทางด้านนี้อยู่ 32 ข้อคำถาม ปรากฏว่าความแตกต่างของข้อมูลส่วนตัวของนักศึกษาในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มีผลต่อปัญหาการปรับตัวด้านการเรียนการสอนทั้งหมด (รวม 32 ข้อคำถามเข้าด้วยกัน) ไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อนำข้อคำถามทั้ง 32 ข้อมาวิเคราะห์ เฉพาะข้อที่มีปัญหามาก ซึ่งมี 9 ข้อคำถามด้วยกัน ผลปรากฏว่า ความรู้สึกเรื่องการแข่งขันกันทางการเรียน ความรู้สึกวิตกกังวลมากเกี่ยวกับการเรียน ความรู้สึกว่าแบ่งเวลาเรียนไม่ถูก และความรู้สึกว่าตนเองไม่อบอุ่น มั่นคง ในสภาพการณ์การเรียนมีความแตกต่างกัน ถ้านักศึกษาในกลุ่มตัวอย่างมีเพศ และคณะวิชาที่สังกัด แตกต่างกัน กล่าวคือนักศึกษาเพศหญิงจะมีปัญหาในการปรับตัวมากกว่านักศึกษาเพศชาย ในความรู้สึกทั้ง 4 ด้านที่กล่าวมาทั้งหมด นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์จะหนักใจด้านการแข่งขันกันทางการเรียนมากกว่านักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ จะหนักใจด้านความวิตกกังวลมากเกี่ยวกับการเรียนมากกว่านักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ อีกเช่นกัน จะรู้สึกหนักใจมากกว่านักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ในเรื่องการแบ่งเวลาเรียนไม่ถูก และนักศึกษาคณะนิติศาสตร์จะหนักใจเกี่ยวกับความรู้สึกไม่อบอุ่น มั่นคง ในสภาพการณ์การเรียนมากกว่านักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ความแตกต่างของข้อมูลส่วนตัวนอกเหนือจาก เพศ และคณะวิชาได้แก่ อาชีพบิดา อาชีพมารดา รายได้ของบิดาและมารดาต่อเดือน ภูมิลำเนา และที่พักขณะศึกษาที่ มธ.ศูนย์รังสิต ไม่ทำให้ความรู้สึกด้านการแข่งขันกันทางการเรียน ความวิตกกังวลมากเกี่ยวกับการเรียน การแบ่งเวลาเรียนไม่ถูก และรู้สึกว่าตนเองไม่อบอุ่นมั่นคง ในสภาพการณ์การเรียนของนักศึกษาในกลุ่มตัวอย่างแตกต่างกัน ส่วนความรู้สึกว่า “อาจารย์บางคนสอนเร็วเกินไป” และ “รู้สึกขาดความเชื่อมันในการเรียนการสอน และการทำงาน” นั้น มีในนักศึกษาเพศหญิงมากกว่าเพศชาย “ความรู้สึกว่ามีปัญหาในเรื่องการเรียนและการจดงาน” รู้สึกว่าการเรียนน่าเบื่อ จนตนเองต้องหันเหความคิดไปที่เรื่องอื่นๆ” และ “รู้สึกไม่อยากเข้าชั้นเรียนกับอาจารย์ที่ตนเองไม่ชอบ” มีเหมือนๆ กัน ไม่ว่านักศึกษาจะแตกต่างกันในด้านเพศ คณะวิชาที่สังกัด อาชีพบิดา อาชีพมารดา รายได้ของบิดา-มารดาต่อเดือน ภูมิลำเนา และที่พักขณะศึกษาอยู่ที่ มธ. ศูนย์รังสิต เมื่อนำคำถามทั้ง 37 ข้อมาวิเคราะห์เฉพาะข้อที่มีปัญหามาก 3 อันดับแรก ซึ่งมี 3ข้อคำถามด้วยกัน ได้แก่ “รู้สึกว่าตนเองว้าเหว่เมื่อขาดเพื่อน” “รู้สึกเกรงใจในการขอความช่วยเหลือจากเพื่อน” และ “รู้สึกว่าเพื่อน ไม่มีความจริงใจต่อกัน” ปรากฏว่าความแตกต่างของกลุ่มตัวอย่างด้านเพศ คณะวิชาที่สังกัด อาชีพบิดา อาชีพมารดา รายได้ของบิดา-มารดาต่อเดือน ภูมิลำเนา และที่พักขณะศึกษาที่ มธ. ศูนย์รังสิต มีผลต่อความรู้สึกว้าเหว่เมื่อขาดเพื่อน และรู้สึกเกรงในการขอความช่วยเหลือจากเพื่อนเหมือนๆ กัน แต่ความรู้สึกว่าเพื่อนไม่มีความจริงใจต่อกัน ของนักศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่บิดา-มารดารายได้ต่ำ (3,000-5,000 บาทต่อเดือน) มีมากกว่านักศึกษาที่มีบิดา-มารดารายได้สูง (สูงกว่า 15,000 บาทต่อเดือน) และความรู้สึกเรื่องความจริงใจของเพื่อนนี้เป็นปัญหากับนักศึกษาที่พักอยู่ในหอพัก มธ. ศูนย์รังสิต มากกว่านักศึกษาที่พักกับพ่อ-แม่ นอกนั้นความแตกต่างกันด้านเพศ คณะวิชาที่เรียน อาชีพบิดา อาชีพมารดา และภูมิลำเนาไม่ทำให้ความรู้สึกด้านความไม่จริงใจของเพื่อนของนักศึกษาในกลุ่มตัวอย่างแตกต่างกัน ด้านการปรับตัวทั้งหมด (ทั้ง 3 ด้าน ด้านการเรียนการสอน ความสัมพันธ์กับอาจารย์และความสัมพันธ์กับเพื่อน) มีคำถามทั้งหมด 96 ข้อคำถาม ผลปรากฏว่า นักศึกษาที่มีความแตกต่างกันในด้านเพศ คณะวิชา อาชีพบิดา อาชีพมารดา ภูมิลำเนา และที่พักขณะศึกษาที่ มธ. ศูนย์รังสิต มีปัญหาในการปรับตัวโดยรวมๆ ทั้งหมด ทั้ง 3 ด้าน ไม่แตกต่างกัน ยกเว้นนักศึกษาที่มีบิดา-มารดารายได้แตกต่างกันจะมีปัญหาในการปรับตัวโดยรวมๆ ทั้งหมดแตกต่างกัน กล่าวคือนักศึกษาที่มีบิดา-มารดารายได้สูง (สูงกว่า 15,000 บาทต่อเดือน) จะปรับตัวโดยรวมๆ ทั้งหมดทุกๆ ด้าน ได้ดีกว่านักศึกษาที่มีบิดา-มารดารายได้ต่ำ (3,000-5,000 บาทต่อเดือน)

Keywords: psychiatry, social, stress, เครียด, ความเครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, นักศึกษา, สังคม, สิ่งแวดล้อม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2531

Address: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372310000002

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -

 

Preset Colors