02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: กัลยา ภักดีมงคงล,ภาวินี ธนบดีธรรมจารี

ชื่อเรื่อง/Title: ความคิดเห็นของบุคลากรพยาบาลและผู้ป่วยจิตเวชของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ต่อการรักษาด้วยกลุ่มบำบัด

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5 , พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเป็นของบุคลากรพยาบาลและผู้ป่วยจิตเวชต่อการรรักษาด้วยกลุ่มบำบัดในโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา กลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ บุคลากรพยาบาล จำนวน 122 คน ผู้ป่วยจิตเวชชาย จำนวน 100 คน และผู้ป่วยจิตเวชหญิง จำนวน 100 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1. แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป และแบบสอบถามความคิดเห็นต่อการรักษาด้วยกลุ่มบำบัดของบุคลากรพยาบาล 2. แบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไปและแบบสัมภาษณ์ความคิดเห็นต่อการรักษาด้วยกลุ่มบำบัดของผู้ป่วย ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบความตรงจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ผู้วิจัยได้นำไปทดสอบความเชื่อมั่นโดยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .85 และ .83 ตามลำดับ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานโดยใช้การทดสอบ ที (t-test) ผลที่ได้ พบว่า ระดับความคิดเห็นต่อการรักษาด้วยกลุ่มบำบัดของบุคลากรพยาบาล ผู้ป่วยจิตเวชชาย และผู้ป่วยจิตเวชหญิง ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี โดยมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 158.43, 102.34 และเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 10.89, 12.24 และ 10.73 ตามลำดับนอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนความคิดเห็นต่อการรักษาด้วยกลุ่มบำบัด พบว่าพยาบาลวิชาชีพมีความคิดเห็นต่อการรักษาด้วยกลุ่มบำบัด ดีกว่าพยาบาลเทคนิคและเจ้าหน้าที่พยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P‹0.01) และพยาบาลวิชาชีพมีความคิดเป็นต่อการรักษาด้วยกลุ่มบำบัดดีกว่าพยาบาลเทคนิคอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) นอกจากนี้พยาบาลวิชาชีพยังความคิดเห็นต่อการรักษาด้วยกลุ่มบำบัด ดีกว่าเจ้าหน้าที่พยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) จากผลการศึกษา สามารถอภิปรายได้ว่า พยาบาลวิชาชีพเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องมีบทบาทสำคัญในการวางแผนการจัดกลุ่มบำบัด ซึ่งเป็นบทบาทอิสระที่พยาบาลวิชาชีพสามารถกระทำได้เอง และเป็นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งในการให้การพยาบาลผู้ป่วยจิตเวช เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและปรับตัวสู่สังคมได้ โดยพยาบาลวิชาชีพเป็นผู้นำกลุ่มบำบัดต่าง ๆ เป็นประจำวันอย่างน้อยวันละ 2-3 กลุ่ม พูดคุยและสร้างสัมพันธภาพเชิงบำบัดกับผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่ผู้ป่วย นับเป็นงานที่อิสระ มีบทบาทที่ชัดเจนและมีอำนาจในการติดสินใจในงานได้ด้วยตนเอง ช่วยให้เกิดทัศนคติที่ดีและมีความคิดเห็นเกี่ยวกับกลุ่มบำบัด ไปในทางบวก สอดคล้องกับการศึกษาของ ภาวินี ธนบดีธรรมจารี (2540) พบว่า พยาบาลจิตเวชที่ปฏิบัติงานอยู่ในวิชาชีพเป็นระยะเวลานาน 11-20 ปี ร้อยละ 46.1 มีความพึงพอใจในงาน เกิดทัศนคติที่ดีต่องาน และมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น ประกอบกับพยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต และเคยผ่านการอบรมการทำกลุ่มบำบัดมากกว่าพยาบาลเทคนิคและเจ้าหน้าที่พยาบาล อีกทั้งวุฒิการศึกษาของพยาบาลวิชาชีพ มีทั้งวุฒิการศึกษา ระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ซึ่งสูงกว่าของพยาบาลเทคนิคและเจ้าหน้าที่พยาบาล น่าเป็นปัจจัยที่เอื้อให้พยาบาลวิชาชีพมีทัศนคติและความคิดเห็นต่อการรักษาด้วยกลุ่มบำบัด ดีกว่าพยาบาลเทคนิคและเจ้าหน้าที่พยาบาล ซึ่งจะเห็นว่า พื้นฐานการศึกษา การเรียน การสอน หลักสูตรการอบรมการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช ประสบการณ์การทำกลุ่มบำบัดที่มีมากกว่าของพยาบาลวิชาชีพ ช่วยส่งเสริมให้วุฒิภาวะทางอารมณ์และความรู้สำนึกคิดของพยาบาลวิชาชีพสมบูรณ์มากขึ้น และโดยหน้าที่ความรับผิดชอบของพยาบาลวิชาชีพ ต้องเป็นผู้นำกลุ่มในการจัดกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ จึงเป็นผลให้พยาบาลวิชาชีพตระหนักถึงความสำคัญของการทำกลุ่มบำบัด และมีความคิดเห็นต่อการรักษาด้วยกลุ่มบำบัดเป็นไปในทางลำบากมากกว่า จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนเป็นปัจจัยที่มีส่วนสนับสนุนให้พยาบาลวิชาชีพมีค่าเฉลี่ยของคะแนนความคิดเห็นต่อการรักษาด้วยกลุ่มบำบัดมากกว่าพยาบาลเทคนิคและเจ้าหน้าที่พยาบาล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) สรุปผลการศึกษาครั้งนี้ได้ว่า ระดับความคิดเห็นต่อการรักษาด้วยกลุ่มบำบัดของบุคลากรพยาบาลและผู้ป่วยจิตเวช ทั้งชายและหญิงส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี และผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อการรักษาด้วยกลุ่มบำบัด ระหว่างพยาบาลวิชาชีพกับพยาบาลเทคนิค กับเจ้าหน้าที่พยาบาล มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) กล่าวคือ พยาบาลวิชาชีพ มีความคิดเห็นต่อการรักษาด้วยกลุ่มบำบัด ดีกว่าพยาบาลเทคนิคและเจ้าหน้าที่พยาบาล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01)

Keywords: ความคิดเห็น พยาบาล ผู้ป่วยจิตเวช กลุ่มบำบัด, psychiatry, group therapy, nurse

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201420005187

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -

 

Preset Colors