02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: ระพีพร แก้วคอนไทย, วัชนี หัตถพนม, สุวดี ศรีวิเศษ, สุภานี กิตติสารพงษ์, ศิริวรรณ ฤกษ์ธนะขจร, ไพลิน โพธิ์สุวรรณ์, อัจฉรา มุ่งพานิช, สุริยา ราชบุตร, ไพรวัลย์ ร่มซ้าย

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาความเครียด สาเหตุ วิธีการแก้ปัญหาและวิธีการคลายเครียดของ เครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิต จ.สกลนคร

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5 , พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ / วิธีการ ในการติดตามเยี่ยมเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิต จ.สกลนคร ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2542 เครือข่ายได้เสนอแนะให้มีการดูแลสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ต้องปฏิบัติงานดูแลสุขภาพจิตของผู้รับบริการบ้าง และมีปัญหาจะต้องดำเนินการอย่างไร จึงได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเครียด สาเหตุ วิธีการแก้ปัญหา วิธีการคลายเครียด และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับระดับความเครียดของเครือข่าย วิธีการ โดยสร้างแบบสอบถามซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป ส่วนที่ 2 การประเมินความเครียด สาเหตุ และวิธีการแก้ปัญหา ส่วนที่ 3 วิธีการจัดการกับความเครียด สำหรับแบบสอบถามส่วนใหญ่นำมาจากหลักสูตรคลายเครียดของกรมสุขภาพจิต ยกเว้นข้อมูลทั่วไป และวิธีการจัดการกับความเครียด ที่ผู้จัดสร้างขึ้นเอง จากนั้นนำไปทดสอบความตรงตามเนื้อหา (content validity) โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ปรับปรุงแก้ไขและไปทดลองใช้กับพยาบาลโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น จำนวน 30 คน เพื่อดูความเหมาะสมของภาษาและหาค่าความเที่ยงของเครื่องมือ ได้ค่าความเที่ยง (reliability) ในแบบประเมินความเครียดเท่ากับ 0.89 สาเหตุของความเครียด 0.73 วิธีการแก้ปัญหา 0.85 และวิธีการคลายเครียด 0.81 ทำเครื่องมือฉบับสมบูรณ์เก็บรวบรวมข้อมูลจากเครือข่ายในการติดตามเยี่ยมครั้งที่สอง ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 219 คน นำข้อมูลที่ได้รับมาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ โปรแกรม SPSS/PC ผลที่ได้ ข้อมูลทั่วไปของเครือข่ายส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 56.6 อายุ 21-40 ปี ร้อยละ 86.3 สถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 63.0 จบการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 51.6 ตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ร้อยละ 54.3 เคยรับการอบรมเกี่ยวข้องกับงานสุขภาพจิตร้อยละ 70.3 ระดับความเครียดของเครือข่ายส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ร้อยละ 72.1 สาเหตุของความเครียดที่เกิดขึ้นบางครั้ง 3 อันดับแรกคือ เกิดจากตัวเอง การทำงาน การเงินและการเรียน สำหรับวิธีการแก้ปัญหาของเครือข่ายสามอันดับแรกที่ใช้บ่อย ๆ คือ จะวางแผนแก้ไขปัญหาและลงมือทำตามแผนที่วางไว้ ฉันจะคิดก่อนพูดและคิดก่อนทำเสมอ ฉันจะพยายามระงับอารมณ์ไม่ทำอะไรวู่วาม วิธีการศึกษาคลายเครียดระดับที่ 1 ที่เครือข่ายใช้บ่อย ๆ สามอันดับแรก คือ ดูโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือวีดิทัศน์ การฟังเพลงหรือร้องเพลง ทำงานอดิเรกที่ชอบหรือถนัด สำหรับวิธีการคลายเครียดระดับที่ 2 ที่เครือข่ายใช้บ่อย ๆ สามอันดับแรก คือ การปรับเปลี่ยนความคิด การจินตนาการ และการฝึกหายใจเพื่อลดความเครียด จากการศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดของเครือข่ายพบว่ามีปัจจัยด้านสถานภาพสมรสที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.000) สรุปและข้อเสนอแนะ จากการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้แปลผลของระดับความเครียดให้เครือข่ายทราบภายหลังจากตอบและเก็บแบบสอบถามเรียบร้อยแล้ว และได้บอกถึงวิธีการช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นเมื่อมีความเครียดและบรรยายความเครียดและวิธีการคลายเครียด โดยสรุปให้เครือข่ายทราบ ควรมีการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตของเครือข่ายในทุก ๆ ปี เพื่อเป็นการส่งเสริมขวัญกำลังใจให้แก่เครือข่ายด้วย

Keywords: group, psychiatry, psychology, กลุ่ม, จิตวิทยา, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201420005186

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -

 

Preset Colors