02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: ธงชัย ทวิชาชาติ, บัณฑิต ศรไพศาล, อัจฉรา จรัสสิงห์, พนมศรี เสาร์สาร, เนตรชนก บัวเล็ก

ชื่อเรื่อง/Title: พฤติกรรมการออกกำลังกายและการรับรู้ถึงความสัมพันธ์ของการออกกำลังกายและสุขภาพจิตของข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2540

รายละเอียด / Details:

การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกำลังเป็นความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานสาธารณสุขเพื่อการป้องกันและการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิตซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านการส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพจึงทำการศึกษาพฤติกรรมการออกกำลังกายของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทราบข้อมูลพื้นฐานว่าบุคลากรกลุ่มต่างๆ ของกระทรวงฯ มีพฤติกรรมการออกกำลังกายอย่างไร มีปัจจัยด้านใดบ้างที่สัมพันธ์ระหว่างการออกกำลังกายและสุขภาพจิตหรือไม่ เพียงใด กลุ่มตัวอย่างจำนวน 742 คน ได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย จากจำนวนบุคลากรที่สังกัดและปฏิบัติงานอยู่ ณ ที่ตั้งกระทรวงฯ จำนวนทั้งสิ้น 7,953 คน โดยตารางสุ่มตัวอย่างที่ระดับความเชื่อมั่น 99% นำมาคำนวณหาสัดส่วนของบุคลากรจากกรมต่าง ๆ โดยแยกเป็น กลุ่มข้าราชการ ลูกจ้างประจำลูกจ้างชั่วคราว ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยแบบสอบถาม ซึ่งมี 4 ขั้นตอน ประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐาน พฤติกรรมการออกกำลังกายปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมออกกำลังกายและการรับรู้ถึงความสัมพันธ์ของการออกกำลังกาย และสุขภาพจิต ผลการวิเคราะห์ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ ปรากฏผลดังนี้ 1. พฤติกรรมการออกกำลังกายของกลุ่มตัวอย่าง พบว่าไม่ออกกำลังกายเลยถึง 430 คน (58.0%) ออกเพียง 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ มีจำนวน 180 คน (24.3%) ออก 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ มีจำนวน 65 คน (8.8%) และออกมากกว่า 4 ครั้ง/สัปดาห์ มีจำนวน 67 คน (9.0%) ในกลุ่มที่ไม่ออกกำลังกายส่วนใหญ่ คือ 287 คน (66.7%) อ้างว่าไม่มีเวลาและในกลุ่มที่ออกกำลังกายพบว่าส่วนใหญ่ใช้เวลาในการออกกำลังกายครั้งละมากกว่า 30 นาที 2. ปัจจัยที่ส่งผลต่อการออกกำลังกาย 2.1 ปัจจัยนำด้านความรู้ในเรื่องการออกกำลังกายของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง 2.2 ปัจจัยนำด้านความเชื่อในเรื่องการออกกำลังกายของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง ยกเว้น กลุ่มตัวอย่างจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่อยู่ในระดับต่ำ 2.3 ปัจจัยนำด้านทัศนคติและค่านิยมของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง ยกเว้นกลุ่มตัวอย่างจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่อยู่ในระดับต่ำ 2.4 ปัจจัยเสริม ค่าเฉลี่ยความเห็นของกลุ่มตัวอย่างทุกกลุ่มอยู่ในระดับปานกลาง 2.5 ปัจจัยสนับสนุนค่าเฉลี่ยความเห็นของกลุ่มตัวอย่างทุกกลุ่มอยู่ในระดับปานกลาง 3. การรับรู้ถึงความสัมพันธ์ของการออกกำลังกายและสุขภาพจิตของกลุ่มตัวอย่าง จากทุกสังกัดอยู่ในระดับปานกลาง 4. ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยนำ ปัจจัยเสริม ปัจจัยสนับสนุน และพฤติกรรมการออกกำลังกาย พบว่ามีเพียง 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยนำด้านทัศนคติและค่านิยมและปัจจัยนำโดยรวม มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการออกกำลังกาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01 และ .05 ตามลำดับ

Keywords: exercise, psychiatry, การออกกำลังกาย, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, บุคลากร, ออกกำลังกาย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2540

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 314400000001

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -

 

Preset Colors