02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: จำลอง ดิษยวณิช

ชื่อเรื่อง/Title: ความเข้าใจแนวพุทธเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิตใจ.

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. ปีที่ 53, ฉบับที่ 3, กรกฎาคม-กันยายน 2551, หน้า 243.

รายละเอียด / Details:

ตามหลักคำสอนในพุทธศาสนา มีโรคอยู่สองชนิด คือ โรคทางกาย และโรคทางใจ มนุษย์ทุกคนเป็นโรคทางใจหรือความผิดปกติทางจิตใจด้วยกันทั้งนั้น ยกเว้นพระอรหันต์ ผู้ทำลายอาสวะกิเลสได้โดยสิ้นเชิง ในจิตวิทยาตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตวิเคราะห์ ฟรอยด์ (Freud) ไม่เชื่อในเรื่องของสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ที่สุด และยังได้ยืนยันว่ามนุษย์ทุกคนไม่สามารถขจัดความขัดแย้งในจิตไร้สำนึก และความวิตกกังวลสากลได้ ตามทรรศนะทางพุทธศาสนา แรงขับในจิตไร้สำนึกและความวิตกกังวลพื้นฐานมีสาเหตุมาจากกิเลสที่เป็นรากเหง้าในส่วนลึกของจิตใจ พระอรหันต์คืออริยะบุคคลที่บรรลุ ความมีสุขภาพจิตที่สูงและสมบูรณ์ที่สุด เพราะว่ากิเลสอย่างละเอียด (อนุสัย) ในจิตใจ ได้ถูกขจัดออกไปอย่างหมดสิ้น. ในมุมมองแนวพุทธ สาเหตุของความผิดปกติทางจิตใจหรือ “อุมมัตตกะ” ในภาษาบาลีมีอยู่ 8 อย่าง ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีผลทำให้เกิดอาการบ้า วิกลจริต หรือโรคจิต สาเหตุเหล่านี้ได้แก่ 1) กามุมมัตตกะ คือ ภาวะวิกลจริตที่สัมพันธ์กับความอยาก (โลภะ) 2) โกธุมมัตตกะ คือ ภาวะวิกลจริตที่สัมพันธ์กับความโกรธ (โทสะ) 3) โมหุมมัตตกะ คือ ภาวะวิกลจริตที่สัมพันธ์กับความหลง (โมหะ) 4) ทิฏฐุมมัตตกะ คือ ภาวะวิกลจริตที่สัมพันธ์กับความเห็นผิด 5) ปิตตุมมัตตกะ คือ ภาวะวิกลจริตที่สัมพันธ์กับโรคทางร่างกาย 6) สุรุมมัตตกะ คือ ภาวะวิกลจริตที่สัมพันธ์กับสุราและสารเสพติดอื่นๆ 7) พยสนุมมัตตกะ คือ ภาวะวิกลจริตที่สัมพันธ์กับเคราะห์ร้ายหรือการสูญเสีย และ 8) ยักขุมมัตตกะ คือ ภาวะวิกลจริตที่สัมพันธ์กับภูตผีหรือปีศาจร้าย. ปัจจุบันมีการจำแนกออกเป็นสามชนิด คือ โรคทางกาย โรคทางจิตใจ และโรคทางจิตวิญญาณความหมายเดิมของโรคทางใจ (mental disease) ในคำสอนทางพุทธศาสนาสอดคล้องกับความหมายของ โรคทางจิตวิญญาณ (spiritual disease) เนื่องจากโรคทางใจ หรือโรคทางจิตวิญญาณเกิดจากความยืดมั่นในเบญจขันธ์ (อุปาทานขันธ์) และอนุสัยกิเลส วิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคนี้คือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวสติปัฏฐานสี่.

Keywords: ความผิดปกติทางจิตใจ, โรคทางใจ, โรคทางจิตวิญญาณ, อุมมัตตกะ, อนุสัยกิเลส, สติปัฏฐานสี่

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่, 50200

Code: 201000036

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download:

 

Preset Colors