02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: นวลลักษณ์ เลาหพันธ์

ชื่อเรื่อง/Title: เจ็บตัวปวดใจใครแล้วใยจะทนดูแล : กรณีศึกษาจากประสบการณ์อันปวดร้าวของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวทำร้ายคนในครอบครัวและติดยาเสพติด ในเขตจังหวัดขอนแก่น.

แหล่งที่มา/Source: ร่วมมือ ร่วมพลัง : มุ่งหวังสู่สุขภาพจิตดี ในปี 2563 การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. หน้า 84.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ จากประสบการณ์ทำงานในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคจิตเภท ที่ติดยาเสพติดมีพฤติกรรมก้าวร้าว พบว่า ผู้ป่วยจิตเภทเหล่านี้ไม่ยอมกินยาและแอบไปเสพยาเสพติด ฯลฯ จนอาการทางจิตกำเริบทำร้ายทุบตีญาติจนบาดเจ็บสาหัสซ้ำและซ้ำเล่า ทำให้ญาติเบื่อหน่าย หมดกำลังใจที่จะดูแล จากปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ศึกษา สนใจที่จะศึกษา กรณีศึกษาจากประสบการณ์อันปวดร้าวของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายคนในครอบครัวและติดยาเสพติดในเขตจังหวัดขอนแก่น. วัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อศึกษาวิธีการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวทำร้ายคนในครอบครัวและติดยาเสพติดของญาติ. วิธีการศึกษา การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษากรณีศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาวิธีการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวทำร้ายคนในครอบครัวและติดยาเสพติดของญาติ ประชากรที่ศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้ป่วยชายที่จิตแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทมีพฤติกรรมก้าวร้าว ติดสารเสพติด อายุ 18-60 ปี และอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ในปี 2550-2551 ใช้วิธีการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงคัดเลือก กลุ่มที่จะใช้ในการศึกษา จำนวน 6 ราย โดยเป็นผู้ป่วยล่ามขัง 2 ราย ผู้ป่วยปล่อยเป็นอิสระ 2 ราย ผู้ป่วยที่ล่ามขังบ้างปล่อยบ้าง 2 ราย ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มีปัญหามีพฤติกรรมก้าวร้าวใช้ความรุนแรงในครอบครัว ติดยาเสพติดมีปัญหามีแนวโน้มถูกครอบครัวทอดทิ้ง ชุมชนไม่ยอมรับ หรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์มากกว่า 3 ครั้ง กลับมารักษาซ้ำภายใน 3 เดือน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ รายงานการติดตามเยี่ยมผู้ป่วยและครอบครัวที่มีปัญหาซับซ้อนในชุมชนของทีมสหวิชาชีพ เพื่อบันทึกการติดตามเยี่ยม โดยมีการเยี่ยมทุก 1 หรือ 3 เดือน แล้วแต่ความรุนแรงและซับซ้อนของปัญหาผู้ป่วย โดยมีการติดตามเยี่ยมเป็นระยะเวลา 1 ปี. ผลการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยจำนวน 2 ราย ถูกล่ามขังบ้างปล่อยบ้าง ผู้ดูแล คือ บิดา มารดา ซึ่งไม่ยอมทอดทิ้งผู้ป่วยเพราะมีความรักผู้ป่วย แต่รู้สึกเบื่อหน่ายหมดกำลังใจหากปล่อยให้ผู้ป่วยเป็นอิสระเพราะคุมพฤติกรรมผู้ป่วยไม่ได้ ดังนั้นขอทีมผู้ศึกษาดูแลในรูปแบบของญาติเอง คือ หากแอบไปเสพยาเสพติด ญาติบังคับให้กินยาไม่ได้จนมีอาการทางจิตกำเริบทุบตีญาติอีก ญาติขอจับล่ามขังแต่ยังคงเอายาให้กินทุกวันอย่างต่อเนื่อง และหากอาการทางจิตดีขึ้น ก็จะปล่อยบ้างบางเวลาวันละ 1 ชั่วโมง หากผู้ป่วยมีพฤติกรรมดีขึ้นอีกญาติก็จะพาไปทำกิจกรรมในชุมชนนานขึ้น 3-4 ชั่วโมง แล้วเอากลับมาขังใหม่ หากพฤติกรรมดีขึ้น ญาติก็จะปล่อยเป็นอิสระแต่ยังคงอยู่ในสายตา จากการประเมินผลการติดตามเยี่ยมพบว่าผู้ป่วยเหล่านี้อาการดีขึ้นตามลำดับพฤติกรรมก้าวร้าวลดลง ไม่กลับไปเสพติดอีกในช่วงเดือนที่ 7 หรือ 8 ของการกลับมาอยู่บ้านและอยู่ในชุมชนได้ ส่วนผู้ป่วยจำนวน 2 ราย ที่ล่ามขังตลอดเวลา พบว่า ผู้ดูแล คือ มารดา ภรรยา ซึ่งรู้สึกเบื่อหน่ายหมดกำลังใจ เพราะหากผู้ป่วยอาการดีผู้จัดการขึ้นกลับมาอยู่บ้าน ญาติดูแลโดยวิธีปล่อยเป็นอิสระ ผู้ป่วยแอบไปเสพยาเสพติด ไม่ยอมรับประทานยาจนอาการทางจิตกำเริบ ผู้ป่วยรายแรกมีพฤติกรรมก้าวร้าวทำร้ายญาติ ข่มขู่คนในชุมชน จนทำให้คนในชุมชนหวาดกลัว ญาติจะเอายาให้กิน ผู้ป่วยมักข่มขู่ก้าวร้าวไม่ยอมกินยา และทุบทำลายบ้านญาติ ถอดเสื้อผ้าเดินรอบหมู่บ้าน ตีพระในวัดบาดเจ็บสาหัส และ ผู้ป่วยรายที่สองเผาบ้านจนวอดวาย มารดาหมดตัว ต้องไปนอนบ้านเพื่อนบ้าน ขอข้าวพระกิน สุดท้ายผู้ป่วยทั้ง 2 รายต้องกลับมารักษาในโรงพยาบาลอีกครั้ง. สรุปผลการศึกษา การศึกษาครั้งนี้ช่วยให้เข้าใจถึงสภาพจิตใจของญาติผู้ดูแล และทำให้เห็นว่าการจำกัดพฤติกรรม โดยใช้วิธีกักบริเวณในลักษณะปล่อยบ้าง ล่ามขังบ้าง สำหรับผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวติดยาเสพติดก็ได้ผล เพราะญาติกักขังด้วยความรัก ทำให้ผู้ป่วยมาสามารถไปเสพยาเสพติด หรือ ดื่มสุราเพิ่มญาติสามารถให้รับประทานยาได้สะดวก นอกจากนี้ญาติเองก็ต้องออกไปทำงานไม่มีเวลาดูแลจึงจำเป็นต้องขังหรือล่ามไว้ พอตอนเย็นกลับมาก็ปล่อยให้ผู้ป่วยเป็นอิสระ ในช่วงเวลาสั้นๆ. ข้อเสนอแนะ จากการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปขยายผลจัดทำโครงการสร้างกำลังใจในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวติดยาเสพติดให้กับญาติ และให้ญาติ ได้แลกเปลี่ยนวิธีหรือปัญหาในการดูแล ร่วมกันซึ่งจะทำให้เกิดกำลังใจ และนำปัญหาที่ได้จากการแลกเปลี่ยนไปพัฒนาเป็นเทคโนโลยีการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวติดยาเสพติดในชุมชนโดยใช้วิธีจำกัดพฤติกรรม ก็เป็นนวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจและทำการศึกษาวิจัยต่อไป.

Keywords: จิตเภท, ยาเสพติด, พฤติกรรมก้าวร้าว

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์

Code: 2010000115

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download:

 

Preset Colors