02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: ธาตรี ใต้ฟ้าพูล

ชื่อเรื่อง/Title: วิเคราะห์ส่วนประสมทางการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย จากอดีต สู่ปัจจุบัน และมองไปยังอนาคต.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 3 สุราไม่ใช่สินค้าธรรม, วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2550 ณ. โรงแรมริชมอนด์ แคราย นนทบุรี, หน้า 35.

รายละเอียด / Details:

มูลค่าตลาดของธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยมีมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากวิเคราะห์ส่วนประสมทางการตลาดพบว่า ด้านผลิตภัณฑ์ มีการพัฒนาสินค้าประเภทใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีดีกรีลดต่ำลงเพื่อให้ดื่มได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้นำไปผสมกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อเพิ่มสีสันให้สะดุดตา ดึงดูดความสนใจวัยรุ่นให้ชวนดื่ม ส่วนทางด้านราคา แม้โดยทั่วไปจะมีระดับราคาเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากมีการปรับอัตราภาษีศุลกากรเมื่อเร็วๆ นี้ หากแต่ในการจำหน่ายปลีกพบว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญอันส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายแต่อย่างใด ขณะที่ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของโครงสร้างการตลาดธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย พบว่า มีความพยาบาลขยายช่องทางการจัดจำหน่ายออกไปเพื่อ เข้าถึง กลุ่มเป้าหมายใหม่ซึ่งมีขนาดใหญ่ คือ กลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบสถานศึกษา อีกทั้งมีความพยายามเข้าสู่สถานศึกษาในรูปแบบของการสนับสนุนกิจกรรมนักศึกษาหลากหลายรูปแบบ แม้ว่าปัจจุบันจะมีกฎหมายควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานศึกษาก็ตาม ส่วนทางด้านการส่งเสริมการตลาด พบว่า ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการโหมใช้การสื่อสารการตลาดอย่างเต็มรูปแบบ นับตั้งแต่การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการขาย การใช้พนักงานขาย การตลาดทางตรง และการจัดกิจกรรมการตลาด โดยแนวคิดที่ถูกนำมาใช้ในการส่งเสริม การตลาดที่สำคัญ ได้แก่ แนวคิดการสร้างตราสินค้า และการตลาดเพื่อสังคม อันเป็นแนวคิดที่ได้รับ การตอบสนองเป็นอย่างดีจากกลุ่มเป้าหมายและผู้มีส่วนได้เสียในสังคม ทำให้สามารถเพิ่มยอดจำหน่ายและขยายฐานการตลาดไปยังกลุ่มวัยรุ่น อันเป็นกลุ่มเป้าหมายในปัจจุบัน อีกทั้งยังสร้างความคุ้นเคยและปลูกฝังทัศนคติเชิงบวกต่อกลุ่มเด็ก เพื่อรองรับตลาดในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง เป็นที่น่าสังเกตว่า พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ...ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แม้ว่าจะได้รับการรับรองและประกาศใช้ในราชกิจจานุเษกษา โดยยืนยันตามร่างเดิมของกระทรวงสาธารณสุขโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามแต่หากพิจารณาในโครงสร้างการตลาดแล้วจะพบว่าไม่สามารถควบคุมปริมาณการจำหน่ายและนักดื่มหน้าใหม่ได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มุ่งเน้นที่การควบคุมการสื่อสารการตลาดมากกว่าพิจารณาถึงการควบคุมโครงสร้างการตลาด ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด ได้แก่ การควบคุม ช่องทางการจำหน่าย เป็นสำคัญ หาใช่การเน้นควบคุมการสื่อสารการตลาดไม่ หากแต่สามารถควบคุมช่องทางการจัดจำหน่ายได้ อีกทั้งยังควบคุมการสื่อสารการตลาดได้ด้วย ก็จะทำให้สามารถลดปริมาณ การจำหน่ายและนักดื่มหน้าใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด.

Keywords: แอลกอฮอล์, ธุรกิจ, วัยรุ่น, ช่องทางการจำหน่าย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Code: 2008009

ISSN/ISBN: 978-974-09-4574-1

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download:

 

Preset Colors