02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: ผ่องพรรณ ธีระวัฒนศักดิ์

ชื่อเรื่อง/Title: คุณภาพการพยาบาลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพิจิตร (Quality of nursing care for depressive disorder patients in Phichit hospital).

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 8 เรื่อง "เสริมสร้างชีวิต ฝ่าวิกฤตโลกร้อน" วันที่ 7-8 กรกฎาคม 2551 ณ. โรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงใหม่, หน้า 212.

รายละเอียด / Details:

ปัญหาโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการฆ่าตัวตาย และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จากสถานการณ์และอุบัติการณ์ของโรค กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า อัตราป่วยโรคซึมเศร้า ปี 2546 ถึงปี 2548 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูง กล่าวคือพบอัตราป่วย 163.76, 214.33 และ 284.06 ต่อประชากรแสนคนตามลำดับ สำหรับโรงพยาบาลพิจิตรจากสถิติผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ปี 2548-2550 มีแนวโน้มสูงขึ้นมากเช่นกัน โดยพบอัตราป่วย 159-23,208.15 และ 286.55 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ นอกจากนั้นองค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ว่าแนวโน้มในปี ค.ศ.2020 โรคซึมเศร้า จะเป็นปัญหาสำคัญ 1 ใน 10 อันดับแรก โดยมีความสำคัญเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งหากปล่อยให้ประชาชนมีอารมณ์เศร้าอยู่ เป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมจะส่งผลให้สถิติการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มสูงขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น และในผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จจะพบว่า ร้อยละ 50 ปีปัญหาโรคซึมเศร้าอยู่นอกจากนั้นหากคิดเป็นค่าสูญเสียในเชิงเศรษฐกิจพบว่ามีค่าใช้จ่ายสูงมากต่อการเจ็บป่วยของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต่อคนสูงถึง 36,599 บาทซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในผู้ป่วยกลุ่มโรคอื่นๆ ค่าใช้จ่ายโรคซึมเศร้าจะสูงเป็นอันดับที่ 5 ของค่าใช้จ่ายสูงสุดของผู้ป่วยโรคจิตเวชที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล จึงนับว่าเป็นภาระด้านการเงินอย่างมหาศาล หากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเหล่านี้ สุดท้ายต้องมาเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควรจากการฆ่าตัวตาย ด้วยความรุนแรงของขนาดปัญหาจึงสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่ต้องเร่งรัดแก้ไขอย่างเร่งด่วน. ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ การรักษาระยะเฉียบพลัน โดยการให้ยาและจิตบำบัด ระยะที่สองคือการรักษาต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกำเริบของ โรคและระยะสุดท้าย เป็นระยะอาการสงบ เป็นการรักษาพยาบาลเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำอีก โดยการรักษาระยะเฉียบพลัน มักจะให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ส่วนระยะการรักษาต่อเนื่องและระยะอาการสงบมักเป็นการรักษาที่บ้านของผู้ป่วย ซึ่งในโรงพยาบาลพิจิตรได้ดำเนินการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังดูแลช่วยเหลือผู้มีภาวะซึมเศร้าและผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ตั้งแต่ปี 2544 โดยกลุ่มงานสุขภาพจิตและจิตเวชเป็นแกน ในการประสานหน่วยงานและทีมสหวิชาชีพปรับปรุงระบบโดยการจัดแนวทางการปฏิบัติที่กำหนดให้มี การคัดกรองผู้ป่วยและติดตามเฝ้าระวังทุกรายในหอผู้ป่วย ตั้งแต่แรกรับจนกระทั่งจำหน่าย การจัดระบบติดตามต่อเนื่องหลังจำหน่ายการพัฒนาระบบงานนี้รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการพยาบาลผู้ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วย พร้อมทั้งพัฒนาระบบการเก็บรวบรวมข้อมูลและการติดตามประเมินผล ซึ่งทิศทางของการพัฒนานี้ยึดตามนโยบายการพัฒนาคุณภาพบริการของโรงพยาบาลพิจิตร อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าการพยาบาลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพยาบาลเป็นผู้ที่ต้องรับหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง และถึงจะต้องดูแลผู้ป่วยเป็นจำนวนมากหรือน้อย ความสำคัญก็อยู่ที่คุณภาพการพยาบาล แม้ว่าโรงพยาบาลพิจิตรจะผ่านการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ในปี พ.ศ. 2549 และจะมีความพยายามในการพัฒนาคุณภาพบริการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังพบเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ความไม่พึงพอใจของผู้ป่วย ความเสี่ยงและความสูญเปล่าต่างๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีกลไกเพื่อส่งเสริม และกระตุ้นการพัฒนาคุณภาพบริการบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ และทันเหตุการณ์ ด้วยความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาคุณภาพการปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในหอผู้ป่วยโดยการนำดัชนีชี้วัดการพยาบาลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นกรอบในการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพของการพยาบาลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่จะทำให้เห็นคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ และทำให้ทราบระดับการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าของโรงพยาบาลพิจิตรตามมาตรฐานสากลนำไปสู่การพัฒนางานการพยาบาลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป. กลุ่มเป้าหมาย พยาบาลวิชาชีพทุกคนที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยของโรงพยาบาลพิจิตร จำนวน 122 คน. วิธีการศึกษา การวิจัยแบบตัดขวาง (Cross-sectional study) เก็บข้อมูลในช่วงวันที่ 21 มกราคม ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2551. ผลการศึกษา พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ อายุระหว่าง 31-40 ปี (ร้อยละ 35.25) การศึกษาระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 74.59) มีระยะเวลาการปฏิบัติงานพยาบาลในหอผู้ป่วยเฉลี่ย 13.58 ปี และไม่เคยอบรมการพยาบาลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (ร้อยละ 68.03) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการปฏิบัติการพยาบาลตามดัชนีคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 60.7) ซึ่งมีการปฏิบัติการพยาบาลมากที่สุดด้านการบริหารสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 85.66) การปฏิบัติการพยาบาลน้อยที่สุด ได้แก่ การบันทึกการสอนและให้ความรู้ผู้ป่วย (ร้อยละ 48.57) และพยาบาลที่ปฏิบัติงานในแต่ละหอผู้ป่วยที่มีอายุ ระดับการศึกษา ระยะเวลาการปฏิบัติงาน และการได้รับการอบรมเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าพบว่ามีระดับคุณภาพการปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่แตกต่างกัน (p‹0.05).

Keywords: สุขภาพจิต, โรคซึมเศร้า, ฆ่าตัวตาย, โรคจิตเวช, คุณภาพการพยาบาล, ความรุนแรง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: กลุ่มงานสุขภาพจิตและจิตเวช โรงพยาบาลพิจิตร

Code: 200800316

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download:

 

Preset Colors