02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: เจริญศรี ขวัญรอด

ชื่อเรื่อง/Title: การปฏิบัติของพยาบาลวิชาชีพเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในผู้ป่วยจิตเวชโรงพยาบาลจิตเวช ภาคใต้.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 8 เรื่อง "เสริมสร้างชีวิต ฝ่าวิกฤตโลกร้อน" วันที่ 7-8 กรกฎาคม 2551 ณ. โรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงใหม่, หน้า 193.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย (descriptive research) เพื่อศึกษาการปฏิบัติของพยาบาลวิชาชีพ เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลจิตเวช ภาคใต้ กลุ่มตัวอย่าง คือ พยาบาลวิชาชีพ ที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วย โรงพยาบาลจิตเวชภาคใต้ และมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย ไม่น้อยกว่า 1 ปี จำนวน 140 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1) แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป 2) แบบสอบถามการปฏิบัติของพยาบาลวิชาชีพ เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในผู้ป่วยจิตเวช ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม ลักษณะแบบสอบถามเป็นแบบมาตรส่วนประเมินค่า 5 ระดับ (0-4) ตรวจสอบความตรงของเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่านและตรวจความเที่ยงของแบบสอบถามส่วนที่ 2 โดยวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอบบาค มีค่าความเที่ยงของแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ 0.89 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน. ผลการวิจัยพบว่า การปฏิบัติของพยาบาลวิชาชีพ เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลจิตเวชภาคใต้ โดยรวมอยู่ในระดับมาก (X=3.48,SD=0.35) และการปฏิบัติการพยาบาลตามขั้นตอนของกระบวนการพยาบาล ทุกขั้นตอนอยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน โดยขั้นตอนการประเมินสภาพ มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด (X=3.51,SD=0.41) รองลงมา คือขั้นตอนการปฏิบัติการพยาบาล (X=3.49,SD=0.36) ขั้นตอนการประเมินผลการพยาบาล (X=3.48,SD=0.41) และขั้นตอนการวางแผนการพยาบาล (X=3.45,SD=0.42) เมื่อพิจารณารายละเอียดของการปฏิบัติเป็นรายข้อ พบว่ากลุ่มตัวอย่างปฏิบัติเกือบทุกกิจกรรม อยู่ในระดับมาก ยกเว้นการปฏิบัติกิจกรรมที่เกี่ยวกับการให้ครอบครัว ญาติ หรือ ผู้ใกล้ชิดมีส่วนร่วม มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด และเป็นการปฏิบัติในระดับปานกลางค่อนข้างมากใน 3 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนการประเมินสภาพ ได้แก่ การประเมินโดยซักประวัติการฆ่าตัวตายของบุคคลในครอบครัว หรือคนใกล้ชิดผู้ป่วย (X=3.15,SD=0.88) ขั้นตอนการวางแผน การพยาบาล ได้แก่ การให้ญาติมีส่วนร่วมในการวางแผนการพยาบาลผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย (X=3.19,SD=0.79) และขั้นตอนการประเมินผลการพยาบาล ได้แก่ การติดตามสังเกตความร่วมมือของญาติในการดูแลผู้ป่วย (X=3.09,SD=0.73) ส่วนขั้นตอนการปฏิบัติการพยาบาล พบว่าการแยกผู้ป่วยจากผู้ป่วยอื่นที่อาจรบกวนหรือกระตุ้นให้ผู้ป่วยฆ่าตัวตาย มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด (X=3.08,SD=0.81) และเป็นการปฏิบัติในระดับปานกลางค่อนข้างมาก ผลการวิจัยครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนาการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย และเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตายต่อไป.

Keywords: สุขภาพจิต, ฆ่าตัวตาย, ผู้ป่วยจิตเวช, พฤติกรรม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์

Code: 200800313

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download:

 

Preset Colors