02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: สุจินดา สุภาพ

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช โรงพยาบาลเวียงสา.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 8 เรื่อง "เสริมสร้างชีวิต ฝ่าวิกฤตโลกร้อน" วันที่ 7-8 กรกฎาคม 2551 ณ. โรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงใหม่, หน้า 50-52.

รายละเอียด / Details:

ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของการประเมินสภาวะสุขภาพจิตของประชาชน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของชาติเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง จากสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จของจังหวัดน่านในปี 2548-2550 จังหวัดน่านจัดอยู่ในอันดับที่7,16 และ 7 ซึ่งถือว่าสูงกว่าเป้าหมายของประเทศที่ 7.7 ต่อแสนประชากร โดยมีอัตราที่ 10.88,9.21 และ 10.89 โดยเฉพาะอำเภอเวียงสาพบในอัตรา 5.6, 7.79 และ 11.4 ในส่วนของการพยายามฆ่าตัวตายหรือ การทำร้ายตนเองพบในอัตรา 27.1,35.7 และ 25.7 ต่อแสนประชากร จากการเก็บข้อมูลผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จในอำเภอเวียงสาเกือบทั้งหมด ไม่เคยผ่านกระบวนการบำบัดรักษา หรือผ่านการให้คำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แสดงถึงการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยยังไม่ทั่วถึง. จากปัญหาดังกล่าวทางหน่ายงานที่รับผิดชอบจึงมีนโยบายที่จะลดปัญหาดังกล่าว โดยการพัฒนาคุณภาพการให้บริการและให้ประชาชนได้พึงพาตนเอง การเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขมากที่สุด เพื่อให้สอดรับกับการปฏิรูประบบสุขภาพและให้การดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด และสอดคล้องกับแผนยุทธ์ศาสตร์ นโยบายเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอเวียงสา ผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานควรมีความรู้ ความเข้าใจ มีแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งปัญหาทางสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่สามารถป้องกันแก้ไขได้ โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นบุคคลใกล้ชิด ครอบครัว ชุมชน ภาครัฐและเอกชน โดยเริ่มจากการมีทัศนคติที่ดีต่อปัญหาสุขภาพจิต การฆ่าตัวตาย ตระหนักถึงความสำคัญ มีระบบเฝ้าระวังและสังเกตสัญญาณที่เขาแสดงออกมาให้รู้ ตลอดจนช่วยกันเยียวยารักษาทั้งกาย จิตสังคม ให้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ. วัตถุประสงค์ 1.เพื่อพัฒนาคุณภาพระบบบริการให้ครอบคลุม มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการเฝ้าระวัง และดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช ในผู้ป่วยที่มารับบริการในสถานบริการให้ได้รับการดูแลต่อเนื่อง ตลอดจนการค้นหาผู้ป่วยในชุมชนให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม 2.เพื่อพัฒนาเครือข่าย การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตในอำเภอเวียงสา ผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิตมีความรู้ ทักษะและทัศนคติที่ดีในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิต และรับทราบนโยบาย แนวทาง การดูแลตลอดถึงระบบการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต และมีการดำเนินงานเป็นแนวทางเดียวกัน 3.เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรในเขตพื้นที่. กลุ่มเป้าหมาย 1.บุคลากรทางด้านสาธารณสุข 2.อสม./ผู้ดูแล/แกนนำชุมชน/แกนนำครอบครัว. วิธีการดำเนินงาน 1.ประชุมทีมงานเพื่อวิเคราะห์ปัญหาจากฐานข้อมูล รายงาน . 2.มีการทบทวนกรณีศึกษาที่มีการฆ่าตัวตายสำเร็จในโรงพยาบาล ร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพนำเสนอข้อมูล ร่วมกันวิเคราะห์ร่วมกันหาแนวทางแก้ไข โดยหาความร่วมมือของทุกฝ่าย นำรูปแบบการคัดกรองและเฝ้าระวังตามโปรแกรมการจัดการโรคซึมเศร้า ในเวชปฏิบัติปฐมภูมิของแพทย์หญิงพันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงานตั้งแต่การคัดกรอง การตรวจและประเมิน การรักษา และการติดตามประเมินผล มาปรับใช้ทั้งในสถานบริการและในชุมชน. 3.พัฒนาศักยภาพของบุคคลากรเพิ่มพูนความรู้เรื่อง โรคทางจิตเวชตลอดถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วย การเฝ้าระวัง การคัดกรองผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตให้แก่เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย และเจ้าหน้าในโรงพยาบาลเวียงสา. 4.พัฒนาศักยภาพแก่ผู้นำชุมชน/อสม. ด้านการเฝ้าระวัง การดูแลช่วยเหลือผู้มีปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน และมีการคัดกรองภาวะสุขภาพจิตของประชาชนในเขตตำบลกลางเวียง โดยการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรท้องถิ่น. 5.ถวายองค์ความรู้แก่พระสงฆ์ ในการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ตลอดถึงปรับทัศนคติของชุมชนต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต. 6.การให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตผ่านทางวิทยุชุมชน. ผลการดำเนินงาน 1.มีระบบการเฝ้าระวังปัญหาการฆ่าตัวตายในโรงพยาบาล ในสถานบริการปฐมภูมิ ตลอด ถึงในชุมชนประเมินจากการมีผู้ป่วยส่งมาปรึกษาและคัดกรองที่คลินิกพิเศษมากขึ้น มีทั้งจากการที่แพทย์ส่งมาคัดกรอง ปรึกษา และพยาบาลคัดกรอง จากคลินิกเฉพาะโรค (NCD) รวมทั้งผู้ป่วยในหอผู้ป่วยในมีเพิ่มมากขึ้น แสดงถึงเจ้าหน้าที่มีความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิต ดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง 2.มีระบบเครือข่ายการดูแลช่วยเหลือผู้มีปัญหาสุขภาพจิตในระดับปฐมภูมิ (PCU) และในชุมชน 3.มีระบบฐานข้อมูลทางด้านสุขภาพจิต ตามระบบรายงาน รง 506 DS ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 4.ยังไม่พบอุบัติการณ์การฆ่าตัวตายซ้ำ หรือในสถานบริการ ข้อเสนอแนะ 1.การทำงานของระบบเครือข่ายการดูแลป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาการฆ่าตัวตาย ต้องมีการนิเทศติดตามและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง. 2.ปัญหาการฆ่าตัวตายสำเร็จในพื้นที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูง ดังนั้นจึงต้องดำเนินงานเชิงรุกมากขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันทางจิตมากขึ้นสามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชน/ท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยในการแก้ปัญหานี้ได้ระดับหนึ่ง. 3.เนื่องจากปัญหาการฆ่าตัวตายมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยคงต้องมีการร่วมมือกันทุกฝ่าย ทุกองค์กรในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ และปัญหาจากการดื่มสุรา.

Keywords: ฆ่าตัวตาย, สุขภาพจิต, จิตเวช, การพัฒนาระบบ, คุณภาพชีวิต, ครอบครัว, การฆ่าตัวตาย, สถิติ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: คลินิกพิเศษ โรงพยาบาลเวียงสา จังหวัดน่าน.

Code: 200800252

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download:

 

Preset Colors