02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: ธรณินทร์ กองสุข

ชื่อเรื่อง/Title: ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ความเครียดในชีวิตกับการเกิดโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยที่มารับบริการของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยปี 2549.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ ในงานประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข 2551,"ดั่งดวงแก้ว ส่องฟ้าสาธารณสุข" วันที่ 28-30 พ.ค. 2551 ณ. โรงแรมปรินซ์ พาเลซ(มหานาค) กรุงเทพฯ, หน้า 356.

รายละเอียด / Details:

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่มักประสบกับเหตุการณ์ความเครียดในชีวิตที่รุนแรงและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นจึงศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ความเครียดในชีวิตกับการเกิดโรคซึมเศร้าของผู้ป่วยที่มารับบริการในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย เป็นการวิจัยเชิงวิเคราะห์ ด้วย Casecontrol study, Hospital-Based เฉพาะผู้ป่วยที่มารับบริการใน 5 โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยในแต่ละภาค อายุ 18-59 ปี จำนวน 339 ราย เกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ป่วยเข้าเป็นกลุ่มศึกษา ได้แก่ รายใหม่ที่มารับบริการในคลินิกจิตเวชด้วยโรคซึมเศร้า ตามการวินิจฉัยด้วย DSM-IV โดยจิตแพทย์/ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเก่าที่มีอาการระหว่าง 1 ม.ค.-31ธ.ค. 49 ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีโรคร่วมโรควิตกกังวล/โรคซึมเศร้าเรื้อรัง รวมทั้งยินยอมเข้าร่วมการวิจัย สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยหลักเป็นโรคจิตเวชอื่น รวมทั้งผู้ป่วยโรคจิตจากการใช้สารเสพติด และผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคทางกายรุนแรงจะถูกคัดออกจากการศึกษาในครั้งนี้ ส่วนกลุ่มที่นำมาเปรียบเทียบเป็นผู้ป่วยที่มารับบริการในโรงพยาบาลเดียวกับกลุ่มศึกษาที่ไม่ใช่คลินิกจิตเวช มีเพศเดียวกันและอายุใกล้เคียงกับกลุ่มศึกษา (+/-1ปี) รวมทั้งไม่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่นๆ จากการประเมินด้วยแบบสัมภาษณ์เชิงโครงสร้างเพื่อวินิจฉัยโรคจิตเวช (M.I.N.I.) การวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มศึกษาและกลุ่มเปรียบเทียบ ด้วย Univariate analysis และ Multivariate analysis. ผลการศึกษาพบว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ความเครียดที่เกิดขึ้นกับตัวเองกับการโรคซึมเศร้า เมื่อวิเคราะห์ด้วยตัวแปรเชิงเดี่ยว ได้แก่ การอับจนหนทาง/สับสนในชีวิต (OR=17.75,95%CI=8.65-37.25) การที่ไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (OR=12.20, 95% CI=4.86-32.50) ถูกลวนลามทางเพศ (OR=9.88,95%CI=2.81-41.43) เลิกกับคนรัก/สามี/ภรรยา (OR=6.65,95%CI=1.83-28.62) อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์ด้วยตัวแปรเชิงซ้อน พบว่าความเครียดที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดมีความหนักแน่นของความสัมพันธ์กับการเกิดโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับปัจจัยการจากบุคคล อันเป็นที่รัก/สามี/ภรรยา (OR=70.83, 95%CI= 3.08-1629.98) และเสียทรัพย์จากการพนัน (OR=17.64,95% CI=2.59-120.15) และความเครียดที่เกิดขึ้นกับตัวเองที่มีความหนักแน่นของความสัมพันธ์กับการเกิดโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น คือ การที่ไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (OR=16.83,95%CI=4.29-66.01) และได้รับอุบัติเหตุรุนแรง (OR=6.07,95%CI=2.06-17.88) ดังนั้นในการวางแผนแก้ไขและป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าควรมีระบบการคัดกรองและประเมินโรคซึมเศร้าตลอดจนการให้สุขภาพจิตศึกษา แก่ประชาชนในกลุ่มผู้ที่มีเหตุการณ์ความเครียดในชีวิตที่เกิดขึ้นกับตัวเองและคนใกล้ชิด.

Keywords: โรคซึมเศร้า, ความเครียด, ความสัมพันธ์, ความรุนแรง, สารเสพติด, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200800237

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download:

 

Preset Colors