02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้วิจัย/Authors: ประพักตร์ เนรมิตพิทักษ์กุล

ชื่อเรื่อง/Title: ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรไทย.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ "สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา" วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2550 โรงแรมริชมอนด์ แคราย จ.นนทบุรี, หน้า 154.

รายละเอียด / Details:

การบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในทุกระบบของร่างกาย จิตใจ และชีวิตความเป็นอยู่ทางสังคมโดยรวม และมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมากกว่า 60 โรค ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอย่างมาก อย่างไรก็ตามการศึกษาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรไทยในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร วัตถุประสงค์ของการศึกษาคือ 1. หาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วิธีการดื่ม การเกิดโรคและการบาดเจ็บ 2. คำนวณค่า alcohol-attributable fractions (AAFs) ของแต่ละโรคจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3. คำนวณค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพเนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยใช้มุมมองทางสังคมในการศึกษา AAFs เป็นวิธีการคำนวณสัดส่วนของการเกิดโรคกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งคำนวณโดยใช้ความชุกของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรไทย และความเสี่ยงสัมพันธ์ของการเกิดโรคต่างๆ โดยแบ่งตามอายุและเพศ จากการทบทวนวรรณกรรมที่เป็นการวิเคราะห์เชิงอภิมาน ผลคูณขอบง AAFs กับจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่เป็นโรคต่างๆ ในประเทศไทยจะเท่ากับจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย. ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพเนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยได้จาก ผลคูณระหว่างจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการดื่มแอลกอฮอล์กับต้นทุนของโรคที่กำหนดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. ผลการศึกษาพบว่าค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพที่เกิดจากผู้ป่วยนอกมีมูลค่า 3,276,478,752 บาท ผู้ป่วยใน 1,203,198,433 บาท และมูลค่าที่เกิดจากการบาดเจ็บเท่ากับ 973,506,794 บาท ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ 5,453,183,979 บาท โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายในงานบริการผู้ป่วยนอกคิดเป็นร้อยละ 60 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ผู้วางแผนนโยบายสามารถนำข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปใช้เพื่อการประเมินและกำหนดนโยบายที่เหมาะสมต่อไป.

Keywords: ค่าใช้จ่าย, สุขภาพ , แอลกอฮอล์, สุรา, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ความชุก

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Code: 200800146

ISSN/ISBN: 978-974-09-4574-1

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download:

 

Preset Colors